วันจันทร์ที่ 31 มกราคม 2565 นายณรงค์ฤทธิ์ พานิชชีวะ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย นายพากร วังศิราบัตร กรรมการบริหาร ส.อ.ท. นางสาวไปยดา หาญชัยสุขสกุล รองผู้อำนวยการใหญ่ ส.อ.ท. และนางสาวสุมลวรรณ แย้มพราย ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนสภาอุตสาหกรรมจังหวัด เข้าร่วมพิธีลงนาม MOU การจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคเอกชนระดับภูมิภาค โดยมี ศาสตราจารย์นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. และนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมลงนาม “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคเอกชนระดับภูมิภาค” ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) อันประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย โดยมี ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้เกียรติเป็นประธานและเป็นสักขีพยานการลงนาม ณ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
ดร.เอนก กล่าวว่า การจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคเอกชนระดับภูมิภาคซึ่ง อว. และ กกร. จะร่วมกันจัดทำขึ้นนี้ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก และเป็นมิติใหม่ของการพัฒนา ซึ่งเกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่มีจุดเด่น จุดแข็งของแต่ละหน่วยที่แตกต่างกันไป รวมทั้งทรัพยากรในองค์กร อาทิเช่น ข้อมูล บุคลากร รวมถึงงบประมาณ และอื่น ๆ ที่แต่ละหน่วยสามารถนำมาใช้ร่วมกันและเสริมเติมเต็มกันได้ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของการสร้างความร่วมมือและบูรณาการงานของทั้งผู้รู้ในทางธุรกิจ พื้นที่ และทางวิชาการ โดยในการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ระดับต่าง ๆ กระทรวง อว. ของเรานั้นมีหน่วยปฏิบัติการส่วนหน้าของ อว. ในการสนับสนุนการพัฒนาจังหวัดเพื่อขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน หรือ “อว. ส่วนหน้า” ทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเป็นหน่วยประสานงานระหว่างจังหวัดกับสถาบันการศึกษา และหน่วยงานในสังกัด อว. ให้เกิดการพัฒนาและแก้ปัญหาในระดับพื้นที่ ด้วยการบูรณาการศาสตร์ (มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์) ที่ผ่านงานวิจัยและพัฒนาจนเกิดนวัตกรรมหลากหลายของสถาบันการศึกษามาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในระดับชุมชน/ท้องถิ่น ตำบล อำเภอ และจังหวัด
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน กกร. มีคณะกรรมการ กกร. ในระดับภูมิภาค ได้แก่ กกร.กลุ่มจังหวัด จำนวน 18 กลุ่มจังหวัด และ กกร.จังหวัด จำนวน 76 จังหวัด เพื่อทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ รวมทั้งกำหนดนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกับภาครัฐในพื้นที่ โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง หอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด และสมาคมธนาคารไทยในจังหวัด และในระดับกลุ่มจังหวัด