เมื่อวันอังคารที่ 14 มิถุนายน 2565 นายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสายงานสื่อสารองค์กร ร่วมเสวนางาน Morning Talk ครั้งที่ 3 เรื่อง จุดเปลี่ยนระเบียบโลกใหม่ อนาคตที่อุตสาหกรรมไทยต้องเผชิญ จัดโดย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผ่านระบบออนไลน์
การเสวนาดังกล่าว มีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเสวนา ดังนี้ ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ (กรรมการบริหารสภาหอการค้าไทย) รศ.ดร. สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ (นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง) และ รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม (ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ซึ่งบรรยายในหัวข้อ ผลัดเปลี่ยนระเบียบโลกใหม่ ภาคเศรษกิจอุตสาหกรรมไทยเตรียมพร้อมอย่างไร..? ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นางนิอร สุขุม (ผู้อำนวยการกองวิจัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรม) กล่าวรายงาน และนายทองชัย ชวลิตพิเชฐ (ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม) กล่าวเปิดงานเสวนา
โดยนายวิวรรธน์ ได้นำเสนอถึงผลกระทบจากจุดเปลี่ยนของกลุ่มอำนาจเก่า คือ สหรัฐอเมริกา และกลุ่มอำนาจใหม่ คือ ประเทศรัสเซีย และประเทศจีน และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังคงมีการสู้รบกันอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบในเรื่องต่าง ๆ อาทิ ปัญหาภาวะเงินเฟ้อ ปัญหาด้านต้นทุนการผลิต และราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการขาดแคลนวัตถุดิบ ทั้งนี้ นโยบายของสภาอุตสาหกรรมฯ One FTI : Strengthen Thai Industries for Stronger Thailand ที่มุ่งเน้นประสานความร่วมมือระหว่าง 45 กลุ่มอุตสาหกรรม 76 จังหวัดทั่วประเทศ ในการสร้าง Smart Agriculture Industry (SAI) หรือ SAI In each city ภายใต้แนวทาง “หนึ่งอุตสาหกรรม หนึ่งจังหวัด” เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม และฟื้นฟูอุตสาหกรรมไทยให้อยู่รอดได้ อีกช่องทางการช่วยเหลือคือ ขอให้ภาครัฐมีการเร่งเจรจาหาแหล่งวัตถุดิบใหม่เพื่อมาทดแทน เช่น ปุ๋ย อาหารสัตว์ สารเคมี และส่งเสริมการใช้วัตถุดิบภายในประเทศให้มากยิ่งขึ้น พร้อมช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็ก หรือ SME โดยการจัดหาแหล่งเงินทุน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจ SME นอกจากนี้ การเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ จะเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้กลับมาฟื้นตัวได้ และจะสามารถให้ผู้ประกอบทุกภาคธุรกิจ เดินไปข้างหน้าได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคง
ในการเสวนา ยังกล่าวถึงประเด็นการแบ่งขั้วของประเทศมหาอำนาจ เช่น สหรัฐอเมริกา และ จีน เป็นการตอกย้ำให้เศรษฐกิจทั่วโลกถดถอย แนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการไทย เพื่อให้อยู่รอดในสถานการณ์ปัจจุบัน คือ การนำแนวคิด BCG Model มาปรับใช้ เนื่องจากประเทศไทยมีจุดแข็งทั้งในด้านภูมิประเทศ ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมด้านเกษตร อาหาร พลังงานหมุนเวียน และการท่องเที่ยว ซึ่งยังเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net zero emissions ที่จะมีผลกับการค้า และการส่งออกสินค้าต่างๆ ระหว่างประเทศมากขึ้นในอนาคต ภายใต้มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ดังนั้น ผู้ส่งออกไทยในอุตสาหกรรมเป้าหมายควรเร่งปรับตัวเพิ่มประสิทธิภาพและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต รวมถึงจัดทำระบบการเก็บข้อมูลก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตที่มีมาตรฐาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเตรียมรองรับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่จะมีความเข้มงวดมากขึ้น
#สายงานส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรม
#สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
#ONEFTI