สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศ กรอบความร่วมมือ IMT-GT ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 28 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง การประชุมระดับระดับภาคเอกชน Joint Business Council: JBC (วันที่ 13 ก.ย. 2565) ภาคเอกชนทั้ง 3 ประเทศ (ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย) มีผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่เข้าร่วมการประชุมโดย นายสุรชาติ เชาวน์วัฒนา รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง พร้อมด้วย นายภูวดิท ปรีชานนท์ ที่ปรึกษาหอการค้าไทย ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมระดับภาคเอกชน นายณัฐนนท์ พงษ์ธัญญะวิริยา รองประธานคณะกรรมการกลุ่มค้าชายแดนและค้าข้ามแดน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ นายสุธีร์ สธนสถาพร ผู้อำนวยการ กกร. เข้าร่วมการประชุม ฯ ระหว่างวันที่ 13 -16 กันยายน 2565 ณ โรงแรม SAii Laguna จังหวัดภูเก็ต
ในการประชุมครั้งนี้ มีการหารือถึงการยกระดับกรอบความร่วมมือด้านการทำงานร่วมกัน Framework of Cooperation (FOC) โดยมีการทบทวนบทบาทของ IMT-GT Joint Business Council: JBC ภายใต้ Implementation Blueprint 2022 – 2026 เพื่อสร้างกลไกการทำงานของ IMT-GT JBC ที่เข็มแข็งมากขึ้น รวมถึงหารือถึงเป้าหมายยุทธศาสตร์ความร่วมมือของ Joint Business Council (JBC) ภายใต้ IMT-GT Vision 2036 โดยหน้าที่ของ JBC จะต้องมีการบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น Investment and Promotion Agencies (IPAs) และ UNINET ในการสร้าง university-industry เพื่อช่วยเหลือ MSMEs ผ่านโครงการต่าง ๆ และมีความร่วมมือกับหน่วยงานที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคม และทำงานร่วมกับ Working Group ด้านต่าง ๆ รวมถึง JBC จะต้องเป็นหน่วยงานหลักที่สนับสนุนภาคเอกชน ทั้งนี้เพื่อแสวงหาโอกาสทางการค้าและการลงทุนในประเทศสมาชิก IMT- GT ต่อไป
การประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ ๒๘ แผนงาน IMT-GT (วันที่ 16 กันยายน 2565) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะรัฐมนตรีประจำแผนงาน IMT-GT ของไทย เป็นประธานการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 28 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT) ณ โรงแรมทราย ลากูนา ภูเก็ต จ.ภูเก็ต โดยมีนายอากุส กูมิวัง คาตาซาสมิตา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ดาโต๊ะ ซรี มุสตาปา โมฮาเหม็ด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มาเลเซียเข้าร่วม พร้อมด้วยนายอาเหม็ด เอ็ม ซาอีด รองประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย นายลิม ซื่อ เชียน ผู้อำนวยการกองความเชื่อมโยงแห่งอาเซียน สำนักงานเลขาธิการอาเซียน เจ้าหน้าที่ของภาครัฐและเอกชนของทั้ง 3 ประเทศ โดยมีนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นผู้แทนระดับอาวุโสของไทย ในช่วงการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 28 แผนงาน IMT-GT ยังจะประกอบด้วย (1) การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 29 แผนงาน IMT-GT (The 29th Senior Officials’ Meeting) (2) การประชุมสภาธุรกิจ IMT-GT (IMT-GT Joint Business Council’s Meeting) และ (3) การประชุมระดับมุขมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัด ครั้งที่ 19 (The 19th Chief Ministers and Governors’ Forum)
การประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีประจำแผนงาน IMT-GT ของทั้ง 3 ประเทศได้รับทราบรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานของแผนงาน IMT-GT ดังนี้
1. แผนงานการก่อสร้างความเชื่อมโยงทางกายภาพ (Physical Connectivity Projects: PCPs) จำนวน 36 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 5.7 หมื่นล้านเหรียญ สรอ. (ประมาณ 2.10 ล้านล้านบาท) โดยโครงการของไทยที่ที่ความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมคือ โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมโยงระหว่างด่านศุลกากรสะเดา-บูกิตกะยูฮิตัม โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 (สุไหงโก-ลก-รันเตาปันยัง) โครงการก่อสร้างสะพานแห่งใหม่ (ตากใบ-เปิงกาลันกุโบร์) โครงการก่อสร้าง Motor Way หาดใหญ่-สะเดา โครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ตระยะที่ 2 และโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ หาดใหญ่–ปะดังเบซาร์
2. รัฐมนตรีแผนงาน IMT-GT ทั้ง 3 ประเทศได้เป็นสักขีพยานการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการเมืองยางพาราและความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยางในอนุภูมิภาค IMT-GT เพื่อร่วมมือกันกำหนดนโยบายและทิศทางการดำเนินกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยาง เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมยางพารา และเสริมสร้างศักยภาพของเมืองยางพาราของอนุภูมิภาค IMT-GT
3. รับทราบว่าอินเดียจะเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาของ IMT-GT ซึ่งเป็นประเทศแรกที่เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา โดยทั้งสามประเทศจะร่วมกันกำหนดแผนการดำเนินงานกับอินเดียบนฐานของการใช้ความรู้ความชำนาญเฉพาะด้าน รวมทั้งยังมุ่งที่จะขยายความร่วมมือกับธนาคารพัฒนาเอเชีย สำนักเลขาธิการอาเซียน และหุ้นส่วนการพัฒนาอื่น ๆ เพื่อสร้างให้เศรษฐกิจของอนุภูมิภาคเติบโตอย่างเข้มแข็งพร้อมไปด้วยกัน
4. รัฐมนตรีแผนงาน IMT-GT ทั้ง 3 ประเทศได้ให้ความเห็นชอบต่อแผนดำเนินงานระยะห้าปี พ.ศ. 2565-2569 ภายใต้วิสัยทัศน์ พ.ศ. 2579 ซึ่งจะเป็นกรอบการพัฒนาอนุภูมิภาค IMT-GT โดยมุ่งให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางพลังงางานและอาหาร การเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทอล การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ การปฏิวัติอุตสาหกรรม ความร่วมมือกับหุ้นส่วนการพัฒนาและทุกภาคส่วน ด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การขับเคลื่อนโดยภาคเอกชน การเติบโตอย่างสมดุล การลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนากลไกการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
5. รัฐมนตรีแผนงาน IMT-GT ทั้ง 3 ประเทศได้ให้ความเห็นชอบในหลักการต่อแผนงานการดำเนินงานเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสการครบรอบ 30 ปีแห่งการจัดตั้งแผนงานความร่วมมือ IMT-GT ในปี พ.ศ. 2566 และ The IMT-GT Visit Year พ.ศ. 2566-2568 เพื่อเป็นการพลิกฟื้นและฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในอนุภูมิภาค IMT-GT ร่วมกันต่อไป

