
หลายคนน่าจะทราบกันแล้วว่าประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ที่เรียกว่า “BCG” หรือ Bio Economy (เศรษฐกิจชีวภาพ) Circular Economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน) และ Green Economy (เศรษฐกิจสีเขียว) ซึ่งเป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่พัฒนาต่อยอดจากจุดแข็งของประเทศไทย คือ ความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ซึ่งขณะนี้ มีมติเห็นชอบให้ BCG Model เป็นวาระแห่งชาติแล้ว เพื่อเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ใหม่ของประเทศ โดยเริ่มมีการขับเคลื่อนวาระนี้ และจะต้องสำเร็จภายใน 5 ปีข้างหน้า (ปี 2570)
..
อย่างที่กล่าวไปตอนต้น ประเทศไทยมีจุดแข็งและข้อได้เปรียบด้านวัตถุดิบและความหลากหลายทางชีวภาพเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ถ้าความได้เปรียบนั้นไม่ได้ถูกนำไปใช้เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ และเพิ่มมูลค่าพืชเศรษฐกิจไทย รวมถึงยกระดับกลุ่มเกษตรกรด้วยแล้ว ก็จะทำให้ประเทศไทยพลาดโอกาสสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งในบทความนี้จะพาไปดูแผนงานริเริ่มสำคัญ (Flagship) ด้าน Bio Economy (เศรษฐกิจชีวภาพ) หรือจะเรียกว่าเป็นต้นแบบเลยก็ว่าได้
..
ต้นแบบเศรษฐกิจชีวภาพ
จุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญได้เกิดขึ้นเมื่อ 2 บริษัทมหาชน บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC บริษัทชั้นนำในธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม Green Flagship Company ของ GC Group และบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ กลุ่ม KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร ซึ่งต่างก็เป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ผนึกกำลังสร้าง “นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ (NBC)” ภายใต้บริษัท จีจีซี เคทิส ไบโออินดัสเทรียล จำกัด หรือ GKBI ซึ่งเตรียมก้าวเป็นไบโอคอมเพล็กซ์แห่งแรกของประเทศไทย สอดรับแนวนโยบายของรัฐที่ส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ
..
ว่าที่ฉายา Bio Hub อาเซียนที่แรกของประเทศไทย
“นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์” สร้างบนเนื้อที่ขนาดใหญ่กว่า 2,000 ไร่ ที่อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนำร่องตามนโยบายมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ที่ภาครัฐได้กำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็น Bio Hub ของอาเซียน ภายในปี 2570 และเป็นโครงการ Bio Hub แห่งแรกของประเทศไทยด้วย โดยมีแผนดำเนินการเป็นผู้ผลิตด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ ชีวเคมี และพลาสติกชีวภาพ และมีเป้าหมายสู่ธุรกิจพลังงานธรรมชาติที่สะอาดและรักษ์สิ่งแวดล้อม อันเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ อีกทั้งช่วยให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่ความภาคภูมิใจของคนในจังหวัดนครสวรรค์ แต่ยังเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ คาดว่าจะเห็นพร้อมกันในปี 2567 นี้
..
ทุ่มทุนกว่าหมื่นล้านบาท !
โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ แบ่งออกเป็น 2 เฟส คือ
• เฟสที่ 1 มีมูลค่าการลงทุน 7,500 ล้านบาท มุ่งเน้นการต่อยอดสู่เชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) ประกอบด้วย โรงหีบอ้อย โรงงานเอทานอล โรงไฟฟ้าชีวมวล และผลิตไอน้ำความดันสูง ซึ่งเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 ที่ผ่านมา
• ส่วนปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงเฟสที่ 2 ได้มีการทำพิธีวางศิลาฤกษ์ไปแล้วเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าการลงทุน 1,430 ล้านบาท* ต่อยอดอุตสาหกรรมชีวภาพ และพลังงานสะอาด มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าทางการเกษตร เพื่อต่อยอดสู่อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) และเคมีชีวภาพ (Biochemicals) ที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบ โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม (*เฉพาะส่วนที่ GKBI เป็นผู้ดำเนินการด้านสาธารณูปโภค ได้แก่ โรงไฟฟ้าชีวมวล เพื่อป้อนไฟฟ้า และระบบผลิตไอน้ำ ผลิตน้ำ บำบัดน้ำเสีย ให้กับโครงการของผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพรายใหญ่ของโลกจากประเทศสหรัฐอเมริกาที่ตัดสินใจมาลงทุนสร้างโรงงานพลาสติกชีวภาพแบบครบวงจรแห่งใหม่ในประเทศไทย เพื่อตอบสนองความต้องการใช้วัสดุที่ยั่งยืนให้ตลาดโลก)
..

มิติใหม่เพื่อก้าวสู่ความยั่งยืน
การดำเนินงานของโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ จะก่อให้เกิดการสร้างประโยชน์ที่ยั่งยืนร่วมกัน (Synergy Benefit) ตลอดห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมชีวภาพ และช่วยส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในประเทศไทย รวมไปถึงชุมชนในพื้นที่ให้มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นใน 3 ด้าน คือ
1. ด้านเศรษฐกิจ จะมีการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับเกษตรกรที่มากกว่า 10,000 ครัวเรือน และแรงงานในพื้นที่ ที่จะเข้ามาทำงานในโรงงาน ทำให้มีเงินหมุนเวียนในพื้นที่มากขึ้น
2. ด้านสังคม ทำให้แรงงานในชุมชนไม่ต้องย้ายถิ่นฐาน ครอบครัวจะเข้มแข็งขึ้น อีกทั้งยังช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ในภาวะที่แรงงานจำนวนมากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19
3. ด้านสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นสร้างพลังงานธรรมชาติที่สะอาด และเคมีชีวภาพเพื่อสิ่งแวดล้อมของคนไทยอย่างแท้จริง ตั้งแต่กระบวนการผลิตของโรงงานหีบอ้อย และโรงงานเอทานอล ที่ใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ทำให้ไม่เกิดของเสียออกสู่ภายนอก ไม่ว่าจะเป็นน้ำเสีย หรือฝุ่นควันต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการวัดคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) และติดตามผลการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่จะสร้างความมั่นใจในเรื่องของการลดมลพิษ ทั้งในไร่อ้อยและในโรงงานอีกด้วย
..
จะเกิดประโยชน์โดยรวมอย่างไร ?
• ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจชีวภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มจากอ้อยกว่า 2 เท่าตัว
• เกิดการพัฒนาและส่งเสริมความรู้สมัยใหม่ด้านเกษตรกรรมในพื้นที่กว่า 100,000 ไร่ ในระยะเริ่มต้น
• รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นเป็น 60,000 – 75,000 บาทต่อคนต่อปี หรือประมาณ 300,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี
• อัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 10,000 ครัวเรือน
• เกิดการจ้างงานในกลุ่มพลังงานชีวภาพ เคมีและพลาสติกชีวภาพกว่า 400 ตำแหน่ง
• ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน และขับเคลื่อนให้ไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (SDGs) ตามเป้าหมายที่วางไว้
• ช่วยสนับสนุนการผลิตพลังงานชีวภาพที่สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืนมากกว่า 180 ล้านลิตรต่อปี (ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558 – 2579)
..
แต่ก่อนจะเห็นความสำเร็จของโครงการนี้อย่างเป็นรูปธรรมและครบวงจร เรามาดูตัวอย่างคลิปสั้น ๆ ของโครงการนี้กันสักหน่อย
..
ท้ายที่สุดนี้ ในนามของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) รู้สึกมีความภาคภูมิใจที่สมาชิกทั้ง 2 บริษัท มีความมุ่งมั่นในการร่วมสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศชาติไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต
..
ถึงแม้ว่า BCG Model ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรในการพัฒนาพร้อมกันทั้ง 3 ด้าน และก็คงไม่แล้วเสร็จง่ายๆ ในเวลาอันสั้น ทั้งนี้ 1 ใน 3 ด้าน ที่เห็นชัดๆ เลยก็คือ Bio Economy (เศรษฐกิจชีวภาพ) ซึ่งกำลังถูกนำมาใช้จริงจากภาพจำโดยภาคเอกชน…อีกไม่นานเกินรอ
————————————————
Copyright @2022 by FTI