วันพุธที่ 5 ตุลาคม 2565 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือนตุลาคม 2565 โดยมีนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย เป็นประธานร่วมในการประชุม ณ ห้องบอลรูม โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ

ที่ประชุม กกร. ประเมินเศรษฐกิจไทยได้อานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีกว่าคาด ท่ามกลางแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและอาจกระทบการส่งออก โดยที่ประชุม กกร. ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 ซึ่งจะขยายตัวได้ในกรอบ 3-3.5% ขณะที่มูลค่าการส่งออกคาดว่ายังขยายตัวได้ในกรอบ 7-8% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในกรอบ 6-6.5%

  • เศรษฐกิจโลกชะลอตัวชัดเจนมากกว่าที่คาด จากผลกระทบของสงครามและปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ โดยเฉพาะปัญหาจากการโจมตีท่อส่งและการระงับส่งก๊าซของรัสเซียซึ่งเพิ่มแรงกดดันต่อวิกฤตพลังงานและความเสี่ยงการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในยุโรป ส่วนการเติบโตของเศรษฐกิจจีนยังเผชิญข้อจำกัดจากปัญหาการขาดแคลนพลังงานและการล็อกดาวน์ ขณะที่สถานการณ์เงินเฟ้อทั่วโลกยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ธนาคารกลางหลายแห่งเดินหน้าดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวด สวนทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยเฉพาะ Fed ที่ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยแรงต่อเนื่อง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกปรับตัวลดลง ซึ่งมีแนวโน้มทำให้ภาพอุปสงค์ของโลกมีการชะลอตัวลง
  • อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มยืนอยู่ในระดับสูง แม้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะลดลงต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาเรล แต่อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มยืนอยู่ในระดับสูง เนื่องจากต้นทุนการนำเข้าปรับตัวสูงขึ้นจากเงินบาทที่อ่อนค่าอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศยังไม่สามารถลดลงได้มากนัก ขณะที่ค่าไฟฟ้ามีการปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือน ก.ย. รวมถึงการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ล้วนเป็นปัจจัยกดดันต้นทุนของผู้ประกอบการที่จะต้องส่งผ่านไปยังราคาสินค้าและบริการต่อไป
  • ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ปรับสูงขึ้นกว่าคาด โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 1.17 ล้านคน คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปี 2565 มีโอกาสแตะระดับ 9 – 10 ล้านคน ส่งผลดีต่อการจ้างงานและรายได้แรงงาน ส่งเสริมอุปสงค์ภายในประเทศให้ทยอยฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อในระดับสูงต่อกำลังซื้อของครัวเรือน และความเสี่ยงต่อรายได้ภาคเกษตรจากภาวะน้ำท่วม
  • สำหรับสถานการณ์น้ำท่วม ปี 2565 ในช่วงที่ผ่านมา ภาคเอกชนมีความห่วงใยในพื้นที่โซนเมืองในหลายจังหวัด ซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขัง เนื่องจากเป็นพื้นที่เศรษฐกิจกระทบต่อความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพของประชาชน ขณะที่ภาคการเกษตรได้ผลกระทบบ้างในพื้นที่เพาะปลูกข้าวแต่โดยรวมยังไม่กระทบภาพรวมเศรษฐกิจมากนัก ส่วนผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมผู้ประกอบการ ยังมีความมั่นใจว่าจะสามารถรับมือกับความเสี่ยงด้านอุทกภัยได้ คาดการณ์ความเสียหายรวมทั้งประเทศ ประมาณ 5,000 – 10,000 ล้านบาท
  • ที่ประชุม กกร. ประเมินเศรษฐกิจไทยได้อานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีกว่าคาด ท่ามกลางแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและอาจกระทบการส่งออก โดยที่ประชุม กกร. ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 ซึ่งจะขยายตัวได้ในกรอบ 3.0% ถึง 3.5% ขณะที่มูลค่าการส่งออกคาดว่ายังขยายตัวได้ในกรอบ 7.0% ถึง 0% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในกรอบ 6.0% ถึง 6.5%

กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2565 ของ กกร.

%YoY

ปี 2565

(ณ ส.ค. 65)

ปี 2565

(ณ ก.ย. 65)

ปี 2565

(ณ ต.ค. 65)

GDP 2.75 ถึง 3.5 2.75 ถึง 3.5 3.0 ถึง 3.5
ส่งออก 6.0 ถึง 8.0 6.0 ถึง 8.0 7.0 ถึง 8.0
เงินเฟ้อ 5.5 ถึง 7.0 5.5 ถึง 7.0 6.0 ถึง 6.5

 

  • ทั้งนี้ กกร. ได้มีการหารือถึงประเด็นเร่งด่วนในการขับเคลื่อน Competitiveness เพื่อให้เศรษฐกิจไทยกลับมาโดดเด่นและแข่งขันได้ โดย กกร. จะมีการหารือกับภาคเอกชนโดยจะเชิญ CEO จากแต่ละกลุ่มธุรกิจร่วมกันหารือ เพื่อรับมือสถานการณ์เศรษฐกิจในปีหน้า พร้อมกับสร้างแนวทางความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังได้มีประเด็นหารือเพิ่มเติม ดังนี้
  1. การหารือเรื่องข้อคิดเห็นต่อพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เรื่อง การจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ ตามหมวด 4 โดยเสนอให้พิจารณาเลื่อนระยะเวลาในการเรียกเก็บค่าใช้น้ำ หรือหากต้องเรียกเก็บให้ใช้อัตราค่าใช้น้ำเดิมที่ มธ. ได้ใช้ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นรอบปัจฉิม ควรระบุเงื่อนไขการเรียกเก็บให้ชัดเจน เช่น การรับน้ำจากผู้สูบจ่ายหรือปรับปรุงคุณภาพน้ำ ผู้ที่รับน้ำไม่ควรชำระค่าน้ำซ้ำซ้อน และการใช้ที่ดินหรืองบประมาณของภาคเอกชนในการสร้างแหล่งเก็บน้ำ ไม่ควรต้องชำระเงินค่าน้ำให้กับภาครัฐ และกรณีที่ใช้น้ำเพื่อกิจกรรม CSR ให้กับภาคเกษตรและชุมชน หรือทำการเก็บกักน้ำในที่ดินเอกชนเพื่อป้องกันปัญหาน้ำแล้งและอุทกภัย ควรยกเว้น หรือได้รับการลดหย่อนการเรียกเก็บค่าใช้น้ำ
  2. คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย  และสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนามปฏิญญา (MOU) จัดการศึกษาในหลักสูตร Higher Education Sandbox เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 โดยมีวัตถุประสงค์ผลิตบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล ให้ตรงกับความต้องการและมีความสามารถในการทำงานในภาคอุตสาหกรรมได้จริง พัฒนากำลังคนและการสร้างความเป็นเลิศที่มีสมรรถนะสูงให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของประเทศได้ และเพื่อตอบโจทย์การขาดแคลนแรงงานที่มีความสามารถในด้านนี้
  • สำหรับการเป็นเจ้าภาพ APEC ในช่วงปลายปีของประเทศไทย ภาคเอกชนพร้อมสนับสนุนรัฐบาลในการจัดประชุมให้เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งในส่วน กกร. ที่รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ABAC 2022 ระหว่างวันที่ 13-15 พฤศจิกายน 2565 และการประชุม APEC CEO Summit 2022 ระหว่างวันที่ 16-18 พฤศจิกายน 2565 ณ Athenee Hotel, a Luxury Collection Hotel, Bangkok โดยยืนยันความพร้อมในทุกมิติ และจะมีการประชาสัมพันธ์ความคืบหน้าให้รับทราบเป็นระยะต่อไป