โลกเปลี่ยน องค์กรและพนักงานต้องปรับอะไร อย่างไร ?
ใกล้จะหมดปี 2565 แล้ว การคาดการณ์เทรนด์อนาคตจะมีให้ศึกษาและติดตามกันหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกของการทำงานยุคใหม่ ซึ่งนับวันเริ่มมีความยากและความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ บนนิยามของคำว่า “VUCA” (Volatility-ความผันผวน, Uncertainty-ความไม่แน่นอน, Complexity-ความซับซ้อน, Ambiguity-ความคลุมเครือ) และ “BANI” (Brittle-ความเปราะบาง, Anxiety-ความกังวล, Non-linear-การคาดการณ์ได้ยาก, Incomprehensible-ความยากเกินกว่าจะเข้าใจ) ที่ส่งผลให้องค์กรและพนักงานต้องรับมือกับความท้าทายหลายระดับและหลายรูปแบบการทำงาน
…
ก่อนหน้านี้มีหลายสำนักออกมาเผยผลสำรวจทักษะแห่งอนาคตที่ต้องมีก่อนปี 2568 (2025) ว่าจะออกมาในรูปแบบไหน เพื่อเตรียมความพร้อมสู่โลกของการทำงาน ซึ่งผลสำรวจของทุกสำนักมีแนวโน้มไปทิศทางเดียวกัน
…
จากรายงานของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) ที่เคยคาดการณ์ล่วงหน้าไว้ จะขอหยิบยกมาจุดหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งเผยถึงสัดส่วนการทำงาน โดยประเมินว่า 40 % ของคนทำงานต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน และ 50 % ของคนทำงานต้องเพิ่มเติมทักษะใหม่ ๆ
…
แม้กระทั่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เปิดเผยข้อมูล “ภาวะสังคมไทยไตรมาสสอง ปี 2565” เกี่ยวกับประเด็นด้านแรงงานที่ต้องให้ความสำคัญ ซึ่งมีนัยสำคัญที่น่าสนใจ 2 ข้อ คือ 1. การขาดแคลนแรงงาน โดยระบุว่า ยังมีการขาดแคลนแรงงานทักษะปานกลาง-สูงเนื่องจากทักษะแรงงานไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด จึงจำเป็นต้องเร่งรัดให้มีการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนทักษะให้สอดคล้องกับความต้องการ และ 2. ปัญหาการหมดไฟในการทำงาน โดยสำนักงานฯ ได้อ้างอิงข้อมูลของเอสเอพี เอสอี (NYSE: SAP) ที่ระบุว่า ในปี 2564-2565 ธุรกิจ SMEs ไทยกว่า 47% มีพนักงานลาออกมากขึ้น ประกอบกับการศึกษาพนักงานทั่วโลกของ Adecco Group พบว่า แรงงานมากกว่า 4 ใน 10 มีภาวะหมดไฟ และจากผลสำรวจของคนวัยทำงานในกรุงเทพฯ ของมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า 12% อยู่ในภาวะหมดไฟในการทำงาน และ 57% มีความเสี่ยงสูงที่จะเข้าสู่ภาวะหมดไฟ และเกิดขึ้นในทุกอาชีพ โดยพนักงานรัฐวิสาหกิจมีปัญหาหมดไฟคิดเป็น 77% บริษัทเอกชนคิดเป็น 73% ข้าราชการคิดเป็น 58% และธุรกิจส่วนตัวคิดเป็น 48% ดังนั้น นายจ้างหรือองค์กรต่าง ๆ ต้องกระตุ้นให้มีโครงการที่สร้างสรรค์และออกแบบให้คนในองค์กรมีสุขภาพจิตที่เข้มแข็ง มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน รวมทั้งปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสม และสอดคล้องกับความต้องการของแรงงาน
…
ตามที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) หรือ SDGs ไว้ 17 เป้าหมายหลัก ซึ่งประกอบไปด้วย 169 เป้าหมายย่อย เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2573 ซึ่งหลายคนอาจเคยได้ยินมาบ้างแล้ว ทั้งนี้ ความน่าสนใจที่เชื่อมโยงกับบทความนี้ที่สุด คือ ความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน
สำหรับข้อมูลต่อไปนี้เป็นการอ้างอิงจากรายงานของ Inner Development Goals ได้สรุปทักษะที่จำเป็นไว้ 23 ทักษะ ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาที่แม้แต่ Robot และ AI ก็ยังสู้ไม่ได้ (Human Touch) โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มหลัก ๆ ดังนี้
การรู้และเข้าใจในตัวตน (Being) เป็นกลุ่มทักษะที่ต้องรู้จักและเข้าใจตนเองได้อย่างลึกซึ้ง ประกอบด้วยทักษะ
- ความเข้าใจตัวเอง (Inner Compass)
- ความซื่อสัตย์และถูกต้องแท้จริง (Integrity and Authenticity)
- การเปิดกว้างและเปิดรับการเรียนรู้ (Openness and Learning Mindset)
- การตระหนักรู้ในตนเอง/การรู้จักตนเอง (Self-awareness)
- ความเข้าใจการมีอยู่ (Presence)
ความคิด (Thinking) เป็นกลุ่มทักษะที่เกี่ยวข้องกับการคิดวิเคราะห์และการตัดสินใจในการแก้ปัญหา ซึ่งเป็นทักษะแห่งอนาคตที่สำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ประกอบด้วยทักษะ
- การคิดเชิงวิพากษ์/การคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking)
- การตระหนักรู้ถึงความซับซ้อน (Complexity Awareness)
- ทักษะมองต่างมุม (Perspective Skills)
- การสร้างความเข้าใจ/ความสามารถในการทำความเข้าใจ (Sense-making)
- การมองการณ์ไกลในระยะยาว และกำหนดวิสัยทัศน์ (Long-term orientation and Visioning)
ความสัมพันธ์ (Relating) เป็นกลุ่มทักษะที่ให้ความใส่ใจผู้อื่น และเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังใส่ใจดูแลโลก ประกอบด้วยทักษะ
- การชื่นชมยินดี (Appreciative)
- การเชื่อมโยงผู้อื่นได้ (Connectedness)
- ความอ่อนน้อมถ่อมตน (Humility)
- ความเข้าอกเข้าใจและความเห็นอกเห็นใจ (Empathy and Compassion)
การทำงานร่วมกัน (Collaborating) เป็นกลุ่มที่รวมทัศนคติและทักษะเข้าด้วยกัน ทั้งในแง่การทำงานร่วมกับผู้อื่น ตลอดจนการยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรม ประกอบด้วยทักษะ
- ทักษะการสื่อสาร (Communication Skills)
- ทักษะการร่วมสร้างสรรค์ (Co-creation Skills)
- ความคิดรวบยอดและความสามารถข้ามวัฒนธรรมที่แตกต่าง (Inclusive Mindset and Intercultural Competence)
- ความไว้วางใจ/เชื่อใจ (Trust)
- ทักษะการระดมผู้อื่นให้มีส่วนร่วม (Mobilization Skills)
การลงมือทำ (Acting) เป็นกลุ่มทักษะที่ต้องขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและแนวคิดแบบใหม่ ประกอบด้วยทักษะ
- ความกล้าหาญ (Courage)
- ความสร้างสรรค์ (Creativity)
- การมองในแง่ดี (Optimism)
- ความอุตสาหะ/ความเพียร (Perseverance)
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว จะเห็นได้ชัดถึงสิ่งที่กำลังจะเปลี่ยนไปต่อโลกการทำงานขององค์กรและคนทำงาน ซึ่งเป็นเรื่องน่าคิดของผู้บริหารองค์กรจะสื่อสารและจัดการวางแผนพัฒนาคนทำงานอย่างไร ส่วนคนทำงานหากยังต้องการเดินหน้าไปพร้อมกับองค์กร และไม่อยากถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ก็ต้องพร้อมจะ Upskill / Reskill ด้วยเช่นกัน
…
ไม่ว่าองค์กรไหน ๆ ย่อมต้องการคนทำงานที่มีทักษะความรู้ความสามารถมาร่วมงาน ทั้งด้าน Hard Skill ที่เฉพาะเจาะจง และด้าน Soft Skill ที่ควรมีและฝึกฝนกันได้ ทั้งนี้ หากสามารถนำทั้งคู่มาผสมผสานควบคู่เข้าด้วยกัน และฝึกฝนอย่างเหมาะสม จะช่วยส่งเสริมและผลักดันให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
…
ท้ายสุดนี้ ทั้ง 23 ทักษะที่กล่าวไว้ทั้งหมดนั้น อาจจะเป็นเรื่องยากสำหรับใครหลายคน เพราะบางทักษะต้องใช้สัญชาตญาณเข้ามาช่วย แต่อย่างน้อยก็สามารถนำมาเป็นแนวทางในการฝึกฝนพัฒนาตนเองหรือกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้…จริงไหม
———————–
Copyright by FTI 2022
