มาตรฐานสมรรถนะด้านการบริหารของบุคลากร/ช่างเทคนิคในสายการผลิต เป็นมาตรฐานสมรรถนะที่นำสมรรถนะ Production Meister ของประเทศญี่ปุ่น มาจัดทำให้สอดคล้องกับบริบทของการทำงานในสายการผลิตของประเทศไทย เกิดขึ้นจากการร่วมกันระหว่างสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) โดยปัจจุบันมีเครื่องมือสำหรับทดสอบประเมินความรู้ความสามารถ ทั้งข้อสอบข้อเขียน ข้อสอบสาธิตการปฏิบัติงาน และข้อสอบสัมภาษณ์

มาตรฐานมีกี่ระดับ ?

มาตรฐานสมรรถนะด้านการบริหารของบุคลากร/ช่างเทคนิคในสายการผลิต มี 4 ระดับ ดังนี้

  1. ระดับการทำงานขั้นพื้นฐาน (Basic Level)
  2. ระดับการทำงานขั้นกลาง (Intermediate Level)
  3. ระดับการทำงานค่อนข้างสูง (Upper – Intermediate Level)
  4. ระดับการทำงานขั้นสูง (Advance Level)

ยกระดับบุคลากร/ช่างเทคนิคในสายการผลิต ด้านใดบ้าง ?

ส.อ.ท. และ สคช. มีความมุ่งหวังจะพัฒนาและยกระดับบุคลากรในสายการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม ที่ใช้มาตรฐานสมรรถนะเป็นกลไกในการพัฒนาให้บุคลากรมีความรู้ ความสามารถในการทำงานและเป็นการสร้างเส้นทางการเติบโตในสายอาชีพ (Career Path) ให้แก่บุคลากรสายการผลิต โดยมุ่งพัฒนาและยกระดับบุคลากร/ช่างเทคนิคในสายการผลิต เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ใน 6 ด้าน ดังนี้

  1. ด้านบทบาทหน้าที่ (Role) มุ่งเน้นให้บุคลากรในสายการผลิตมีความรู้ด้านการบริหารจัดการ มนุษยสัมพันธ์ และการสื่อสาร รวมทั้งพฤติกรรมและทัศนคติพื้นฐาน เพื่อให้บทบาทหน้าที่ที่รับผิดชอบในแต่ละตำแหน่งประสบความสำเร็จ
  2. ด้านคุณภาพ (Quality) มุ่งเน้นให้บุคลากรในสายการผลิตเข้าใจวิธีการควบคุมคุณภาพและการลดจำนวนของเสียเพื่อยกระดับและปรับปรุงคุณภาพจากมุมมองของแต่ละตำแหน่ง
  3. ด้านต้นทุน (Cost) มุ่งเน้นให้บุคลากรในสายการผลิตเข้าใจการยกระดับและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การจัดการต้นทุน และวิธีลดความสูญเปล่า จากมุมมองของแต่ละตำแหน่ง
  4. ด้านการส่งมอบ (Delivery) มุ่งเน้นให้บุคลากรในสายการผลิตเข้าใจกิจกรรมรูปแบบต่าง ๆ เพื่อการควบคุมการผลิต ตลอดจนวิธีการปรับปรุง (Kaizen) เพื่อให้บรรลุแผนการผลิต และสามารถส่งมอบให้กับลูกค้าได้ทันเวลาจากมุมมองของแต่ละตำแหน่ง
  5. ด้านความปลอดภัย (Safety) มุ่งเน้นให้บุคลากรในสายการผลิตมีทัศนคติและหลักการดำเนินการ ตลอดจนการนำไปปฏิบัติด้านความปลอดภัยจากมุมมองของแต่ละตำแหน่ง
  6. ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) มุ่งเน้นให้บุคลากรในสายการผลิตมีทัศนคติและวิธีการดำเนินงาน ตลอดจนการนำไปปฏิบัติ ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม จากมุมมองของแต่ละตำแหน่ง

มีการนำมาตรฐานสมรรถนะนี้มาใช้แล้วหรือไม่

ส.อ.ท. และ สคช. ได้นำมาตรฐานสมรรถนะฯ นี้มาจัดทำเป็นหลักสูตรตามฐานสมรรถนะแล้ว จำนวน 3 หลักสูตร ดังนี้

  1. หลักสูตร The Operator เป็นหลักสูตรที่สอดคล้องกับมาตรฐานสมรรถนะด้านการบริหารของบุคลากร/ช่างเทคนิคในสายการผลิต ระดับการทำงานขั้นพื้นฐาน (Basic Level)
  2. หลักสูตร The Foreman เป็นหลักสูตรที่สอดคล้องกับมาตรฐานสมรรถนะด้านการบริหารของบุคลากร/ช่างเทคนิคในสายการผลิต ระดับการทำงานขั้นกลาง (Intermediate Level)
  3. หลักสูตร The Supervisor เป็นหลักสูตรที่สอดคล้องกับมาตรฐานสมรรถนะด้านการบริหารของบุคลากร/ช่างเทคนิคในสายการผลิต ระดับการทำงานค่อนข้างสูง (Upper – Intermediate Level)

และนำมาทดสอบประเมินกับบุคลากรของอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยนต์ และซัพพลายเออร์ ทั้งนี้ยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาในระบบการเรียนการสอนแบบทวิภาคี ที่กำลังฝึกประสบการณ์ในโรงงานอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ เข้าร่วมการประเมินด้วย โดยมีจำนวนผู้เข้ารับการทดสอบประเมินทั้งสิ้น 317 คน โดยทั้งหมดดำเนินการภายใต้โครงการพัฒนาบุคลากรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่

สามารถศึกษามาตรฐานสมรรถนะด้านการบริหารในสายการผลิตได้ที่ใด ?

ผู้ที่สนใจจะศึกษามาตรฐานสมรรถนะด้านการบริหารของบุคลากร/ช่างเทคนิคในสายการผลิต สามารถเข้าไปศึกษาได้ที่เว็บไซต์สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) www.tpqi.go.th หรือที่สถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โทรศัพท์ 0-2345-1221  หรือเว็บไซต์ www.hcbi.org