โดย สถาบันนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โอกาสทางธุรกิจของอุตสาหกรรม “อาหารแห่งอนาคต (Future Food)”
คุณทราบหรือไม่ว่า ทำไมอุตสาหกรรม “อาหารแห่งอนาคต (Future Food)” ถึงถูกจัดเป็น Mega Trend ของโลก ที่มีโอกาสทางธุรกิจสูง ?
ด้วยข้อจำกัดในการผลิตอาหารแบบเดิม ทั้งพื้นที่ ทรัพยากรที่ใช้เลี้ยงสัตว์ อย่างน้ำและอาหาร รวมถึงสภาวะโลกร้อน (Global Warming) ที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากกิจกรรมปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งภาคอุตสาหกรรม และภาคปศุสัตว์ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่โลกสูงเป็นอันดับสอง รองจากภาคอุตสาหกรรม ส่งผลให้สภาพอากาศแปรปรวน พื้นที่เพาะปลูกได้รับผลกระทบ และผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ
ด้วยเหตุนี้ ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรจากการเพาะปลูกแบบเดิม และเนื้อสัตว์จากการทำปศุสัตว์แบบเดิม จึงลดน้อยลงและไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชากรโลกที่นับวันจะมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น “อาหารแห่งอนาคต (Future Food)” จึงกลายมาเป็นคำตอบที่มาแทนที่อาหารดั้งเดิม เนื่องจากมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสร้างแหล่งอาหารใหม่ ที่เพิ่มผลผลิตได้เร็วกว่า ใช้พื้นที่เพาะเลี้ยงน้อยกว่า ลดทรัพยากรอาหารในการเลี้ยงดู ที่สำคัญยังให้คุณค่าทางโภชนาการสูงและดีต่อความยั่งยืนของโลก เพราะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการสร้างขยะเหลือทิ้ง (Zero Waste) จากกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
จากแนวโน้มการให้ความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตเป็นอุตสาหกรรมอันดับต้น ๆ ที่ได้รับความสนใจและมีการขับเคลื่อนจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว จนทำให้อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตเกิดการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยในปี 2564 ตลาดอาหารแห่งอนาคตมีมูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมทั่วโลกสูง 122,927 ล้านบาท คาดการณ์ว่ามูลค่าเศรษฐกิจจะเติบโตเพิ่มเป็น 2 เท่าตัวในปี 2568 ตามการขยายตัวของผู้บริโภคอาหารแห่งอนาคตที่มีความต้องการแบบเฉพาะเจาะจง รวมถึงการพัฒนาของอาหารแห่งอนาคตที่ยังต่อยอดไปได้อีกไกล
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตยังสามารถทำผลตอบแทนได้สูงกว่าอุตสาหกรรมอาหารดั้งเดิม เนื่องจากอาหารแห่งอนาคตสามารถเพิ่มมูลค่าได้สูงกว่าอาหารปกติ ทำให้มีโอกาสในการแข่งขันสูง ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่มีความต้องการเฉพาะกลุ่มได้มากกว่าอาหารทั่วไป เห็นได้จากอัตรากำไรของผู้ประกอบการในต่างประเทศที่ทำธุรกิจ “Functional Foods” จะสามารถทำกำไรได้สูงกว่าธุรกิจ “Basic Foods” ถึงเกือบ 3 เท่าตัว (ที่มา : วิเคราะห์โดย Krungthai Macro Research โดยใช้ข้อมูลอัตรากำไรสุทธิเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง จาก reuters.com)
..
อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต (Future Food) ของไทยได้รับแรงสนับสนุนที่ดีจากภาครัฐ
ในประเทศไทย ภาครัฐมีนโยบายผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรม “อาหารแห่งอนาคต (Future Food)” ขึ้น โดยจัดอาหารแห่งอนาคตให้อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายกลุ่ม S-Curve ที่ได้รับประโยชน์ในการส่งเสริมต่าง ๆ จากภาครัฐ เพื่อผลักดัน GDP อุตสาหกรรมอาหารไทยให้บรรลุเป้าหมายที่ 1.35 ล้านล้านบาท ภายในปี 2569 โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ระยะที่ 1 พ.ศ. 2562-2570 ไว้ 4 มาตรการ ได้แก่
- มาตรการสร้างนักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่ (Food Warriors) เป็นมาตรการสร้างผู้ประกอบการอาหารรุ่นใหม่ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ภาคการเกษตร ภาคการผลิต และภาคการตลาด เพื่อให้เป็นพลังขับเคลื่อนหลักในการสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างการเติบโตให้เศรษฐกิจไทย โดยให้ความสำคัญกับการผลิตอาหารอนาคต โดยสิ่งที่คาดหวังว่าจะเกิดในอนาคต เช่น อาหารสุขภาพ อาหารจากเทคโนโลยีชีวภาพ และอาหารใหม่ เป็นต้น
- มาตรการสร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต (Future Food Innovation) เป็นมาตรการยกระดับนวัตกรรมอาหารสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ โดยสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ได้แก่ ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมอาหาร (Food Industrial Transformation Center) การสร้างห้องแล็บผลิตอาหารในอนาคต (Future Food Lab) หรือนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ (Intelligence Packaging)
- มาตรการสร้างโอกาสทางธุรกิจเกษตรและอาหาร (New Marketing Platform) เป็นมาตรการสร้างโอกาสทางธุรกิจผ่านแพลตฟอร์ม (Platform) เพื่อให้ผู้ผลิตไทยมีบทบาทในตลาดโลก เชื่อมโยงการค้าสู่สากล รวมถึงสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งด้วยวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ และเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์อาหารกับการท่องเที่ยว สิ่งที่คาดหวังให้เกิดในอนาคต เช่น การจัดกิจกรรมมหกรรมอาหาร (Food Expo) การพัฒนา Big Data แก่ SMEs การเปิด SMEs One Portal การพัฒนา Digital Value Chain การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะ SMEs เพื่อรองรับการท่องเที่ยวชุมชน
- มาตรการสร้างปัจจัยพื้นฐานเพื่อเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรม (Enabling) เป็นมาตรการสร้างปัจจัยเอื้อสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร และลดอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) โดยสร้างสภาพแวดล้อมส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ได้แก่ การส่งเสริมการสร้างระบบตรวจสอบย้อนกลับอาหาร การยกระดับ SMEs Standard การสร้างระบบมาตรฐานเฉพาะ (มอก.S) การสร้างระบบมาตรฐานที่จะรองรับการพิสูจน์ (Identify) สารสกัดชนิดใหม่ของไทยทั้งจากสมุนไพรหรืออาหารเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในตลาดทั้งระดับชาติและระดับสากล เป็นต้น ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความโปร่งใส การรับผิดชอบต่อสาธารณะ และการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน
สืบเนื่องจากนโยบายภาครัฐที่เอื้อต่อการเติบโตของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต ทำให้ในปัจจุบันประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์อาหารแห่งอนาคตที่หลากหลายทยอยออกสู่ตลาด ซึ่งวางจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ สามารถจัดเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ทั้งหมด 4 กลุ่ม โดยในปี 2564 สามารถส่งออกได้ 93.6 พันล้านบาท เติบโต 4.9 % YoY โดยผลิตภัณฑ์ที่ส่งออก ได้แก่
- อาหารฟังก์ชัน (Functional Food) มีมูลค่าส่งออก 2 พันล้านบาท ขยายตัว 5.7 % YoY โดยผลิตภัณฑ์ที่ส่งออก ได้แก่
- อาหารปรุงแต่งหรือซอสปรุงรสที่มีส่วนผสมของวิตามิน เกลือแร่ หรือใยอาหาร (71 % ของมูลค่าส่งออกอาหารฟังก์ชันทั้งหมด)
- น้ำผลไม้ น้ำพืชผัก และเครื่องดื่ม (29 %)
- อาหารใหม่ (Novel Food) มีมูลค่าส่งออก 7 พันล้านบาท หดตัว -6.0 % YoY โดยผลิตภัณฑ์ที่ส่งออก ได้แก่
- โปรตีนจากพืช อาหารจากธัญพืช (75 % ของมูลค่าส่งออกอาหารใหม่ทั้งหมด)
- โปรตีนเข้มข้น ผลิตภัณฑ์นมและครีม (24 %)
- แมลงกระป๋อง (1 %)
- อาหารทางการแพทย์ (Medical Food) มีมูลค่าส่งออก 6 พันล้านบาท ขยายตัว 51.6 % YoY โดยผลิตภัณฑ์ที่ส่งออก ได้แก่
- อาหารเสริมผู้ป่วยหนัก (95 % ของมูลค่าส่งออกอาหารทางการแพทย์ทั้งหมด)
- อาหารที่ใช้ในทางการแพทย์อื่น ๆ (4 %)
- วิตามินพรีมิกซ์เสริมคุณค่าอาหาร (1 %)
- อาหารอินทรีย์ (Organic Food) มีมูลค่าส่งออก 2 พันล้านบาท หดตัว -25.2 % YoY โดยผลิตภัณฑ์ที่ส่งออก ได้แก่
- ข้าวกล้องอินทรีย์ (70 % ของมูลค่าส่งออกอาหารอินทรีย์ทั้งหมด)
- ผลไม้อินทรีย์ (30 %)
———————————-
เอกสารอ้างอิง
- Novel Food อาหารนวัตกรรมใหม่ โอกาสทองของเอสเอ็มอีไทย | SME One
- อุตสาหกรรมอาหารในอนาคต | Krungsri Research
- ‘Functional Food’ นวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต | สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.). https://www.nstda.or.th/home/news_post/nstda-itap-tcels-functional-food/
- Cultured Meat อีกทางเลือกความมั่นคงด้านอาหารในอนาคต | ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ PETROMAT จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. https://petromat.org/home/cultured-meat/
- ข้าวไทยใส่นวัตกรรม Medical Food เพื่อผู้ป่วยเบาหวาน | บมจ.ธนาคารกรุงเทพ. https://www.bangkokbanksme.com/en/rice-thai-medical-food-diabetes
- เป็นเบาหวาน อยากลดน้ำหนัก ต้องรีบทำความรู้จัก ISOMALTULOSE | Goodlife Update. https://goodlifeupdate.com/healthy-body/124008.html
- “ฟัวกราส์จากพืช” นวัตกรรมไทยตอบโจทย์สุขภาพ | กรุงเทพธุรกิจ. https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1028830
- FMCG Gurus. Top Ten Trends 2021 Report. Retrieved from https://fmcggurus.com/top-10-trends-2021-report-sm-download/
- David Henkes, Emerson Climate Technologies. Food Industry Forecast: Key Trends Through 2020, Crucial Trends Transforming the Industry. Retrieved from https://climate.emerson.com/documents/dallas-%E2%80%93-food-industry-forecast-key-trends-through-2020-pt-br-3632778.pdf
- Future of Protein: Preparing for success in an uncertain environment. Retrieved from https://www2.deloitte.com /content/dam/Deloitte/ch/Documents/consumer-business/deloitte-ch-the-future-of-protein-Jan-2021.pdf
- Department of International Trade Promotion. Future Food Fact Sheet. Retrieved from https://ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/754468/754468.pdf&title=754468&cate=2514&d=0