หากจะถามว่าแหล่งพื้นที่ใดในประเทศไทยปลูกยางพารามากที่สุด คำตอบที่ตรงกันคือ ภาคใต้ (กระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พังงา พัทลุง ภูเก็ต ยะลา ระนอง สตูล สงขลา สุราษฎร์ธานี) เนื่องจากมีความได้เปรียบทางด้านภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศที่มีความเหมาะสมในการเพาะปลูกต้นยาง จึงทำให้ยางพาราเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจสำคัญของภาคใต้และประเทศไทย ทั้งด้านผลผลิต ปริมาณ และคุณภาพที่ดีเป็นที่ยอมรับ กลายเป็นประเทศผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ของโลก กระทั่งเกิดเป็นยุคทองของยางพาราเมื่อหลายสิบปีก่อน
ภาพรวมยางพาราทั้งประเทศไทยมีจำนวนเนื้อที่ปลูกยางพารากว่า 20 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 60 จังหวัดทั่วประเทศ ทั้งภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง สามารถผลิตยางธรรมชาติได้กว่า 4.9 ล้านตันต่อปี ผลผลิตดังกล่าวสามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง ส่งผลให้เกิดการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก
..
ปัญหาและอุปสรรคที่ดึงเวลากว่า 5 ปี
ปัจจุบันการส่งออกผลิตภัณฑ์จากยางพาราทั้งน้ำยางธรรมชาติและไม้ยางพาราที่ส่งออกไปขายในตลาดต่างประเทศนั้น กำลังประสบปัญหาราคายางพาราตกต่ำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 5 ปี อีกทั้งปัญหาผลผลิตยางพาราล้นตลาด ถึงแม้ว่าภาครัฐได้พยายามแก้ปัญหา โดยการหาตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น เช่น ตลาดอินเดีย แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้นได้
นอกจากนี้ ประเทศผู้ซื้อยังพยายามกดราคายางพาราให้ถูกลง ซึ่งใช้ข้อกีดกันทางการค้าอื่นที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers) โดยการอ้างอิงมาตรฐานการจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืน เช่น การบุกรุกป่าเพื่อปลูกยาง การใช้สารเคมีบางชนิด การตัดต้นยางพาราที่ไม่ถูกวิธีการ การไม่อนุรักษ์พื้นที่ป่าอนุรักษ์และสัตว์ป่า เป็นต้น มาเป็นข้ออ้างในการกดราคา แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยางไทย
..
ถึงเวลาแล้วที่ต้องส่งเสริมการทำสวนยางพาราตามมาตรฐานสากล
ขณะนี้มีหลายประเทศเริ่มปรับตัวและนำระบบการจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานสากลมาใช้กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งมาตรฐานการรับรองการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนนี้เป็นมาตรฐานภาคสมัครใจ ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของลูกค้าหรือผู้ซื้อบางตลาด ที่ไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นการรับรองจากองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่กำหนดให้ต้องมีหนังสือรับรองการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนมาประกอบการซื้อขาย ประเด็นดังกล่าวนี้เอง ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์จากยางพาราทั้งน้ำยางธรรมชาติและไม้ยางพาราของไทย ที่ต้องพึ่งพาตลาดต่างประเทศเป็นหลักพลอยได้รับผลกระทบ ซึ่งถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องส่งเสริมการทำสวนยางพาราให้เป็นไปตามมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนของชาติ ไม่เพียงแต่จะได้รับการยอมรับเทียบเท่ามาตรฐานสากลแล้ว ยังเป็นการยกระดับภาคอุตสาหกรรมป่าไม้ไทย ผลิตภัณฑ์ไม้และที่เกี่ยวข้องด้วย
..
อะไรคือมาตรฐานรับรองที่ผู้ประกอบการสวนยางพาราต้องปฏิบัติ
เพื่อให้การบริหารจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืนได้อย่างถูกต้องตามมาตรฐานไทยและมาตรฐานสากล ดังนั้น ผู้ประกอบการในการจัดการสวนป่าไม้ฯ จึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามหลักการและแนวทางของข้อกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม 2 มาตรฐานหลัก คือ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม การจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (มอก.14061) หรือ Sustainable Forest Management Standard (TIS 14061) และมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ห่วงโซ่การควบคุมผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ (มอก. 2861) หรือ Chain of Custody Standard Forest Based Products (TIS 2861)
..
โครงการนำร่องการรับรองสวนยางพาราด้วยมาตรฐานชาติเทียบเท่ามาตรฐาน PEFC*
สำนักงานการรับรองไม้เศรษฐกิจไทย (Thailand Forest Certification Council: TFCC) ภายใต้การดูแลของสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ซึ่งเป็นสมาชิกของ PEFC* ในฐานะหน่วยปกครองการรับรองมาตรฐานด้านป่าไม้แห่งชาติ (National Governing Body – NGB) ด้านมาตรฐาน มอก.14061 และ มอก.2861 (*PEFC: Programme for the Endorsement of Forest Certification สำนักงานใหญ่ ณ สวิตเซอร์แลนด์ มีประเทศสมาชิกมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก)
โครงการนำร่องดังกล่าวเริ่มต้นจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ จังหวัดภูเก็ต เพื่อขับเคลื่อนไทยให้เป็นศูนย์กลางยางพาราโลก (Thailand Green Rubber) จนนำไปสู่การยกระดับอุตสาหกรรมยางไทยและพลิกฟื้นเศรษฐกิจฝั่งอันดามัน
..
ตรัง-สตูล สวนยางพารานำร่อง 8,200 ไร่
เชื่อว่าหลายคนคงเกิดคำถามขึ้นในใจว่า ทำไมต้องเป็นจังหวัดตรังและสตูล ?
เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพาราในพื้นที่อื่น ๆ สามารถนำไปใช้เป็นต้นแบบในการปรับปรุงกระบวนการผลิตยางให้เข้าสู่ระบบคุณภาพมาตรฐานและการค้าในระดับสากล ในลักษณะของภาครัฐกับภาคเอกชน ที่ร่วมกันพัฒนาและขยายผลผ่านความร่วมมือร่วมกัน ซึ่งจังหวัดตรังและสตูลมีความพร้อมเชิงพื้นที่การจัดการสวนยาง
สหกรณ์สวนยางพาราคลองปาง จังหวัดตรัง ขนาดพื้นที่ 2,800 ไร่ และ บริษัท อีโนเว รับเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ IRC ผู้ผลิตยางล้อรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นคู่แรกที่จับคู่ตลาดนำการผลิตระหว่างผู้ประกอบการภาคการผลิตกับสหกรณ์ผู้ผลิตต้นทาง ส่วนการจับคู่ถัดมาระหว่างสวนยางพารา จังหวัดสตูล ขนาดพื้นที่ 5,400 ไร่ และ บริษัทเซาท์แลนด์รับเบอร์ จำกัด ซึ่งรวมพื้นที่ของทั้ง 2 จังหวัดแล้วเท่ากับ 8,200 ไร่
..

สำหรับรูปแบบโมเดลตลาดข้างต้นนี้ เป็นต้นแบบในการพัฒนาและการเพิ่มศักยภาพด้านคุณภาพ มาตรฐาน และการควบคุมต้นทุน รวมทั้งยังเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอีกด้วย
ทั้งนี้ โครงการฯ เตรียมจะขยายผลไปในจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งผู้ประกอบการสามารถแสดงความจำนงเข้ามายังสำนักงานการรับรองไม้เศรษฐกิจไทย (Thailand Forest Certification Council: TFCC)
TFCC จะทำหน้าที่ให้การสนับสนุนการจัดทำมาตรฐานการรับรอง FM / CoC* เพื่อเพิ่มมูลค่าทางการตลาดให้กับสินค้าของทั้งสองฝ่าย (*FM / CoC: Forest Management / Chain of Custody) ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มสหกรณ์หรือเกษตรกรผู้ผลิต จะได้รับการอบรมและเตรียมความพร้อมตามมาตรฐานการรับรอง
- การอบรมพัฒนากระบวนการเพาะปลูกและการจัดการสวนป่า ตาม มอก. 14061 เพื่อลดต้นทุน
- การอบรมพัฒนากระบวนการผลิตแปรรูปเบื้องต้นและการบริหารจัดการห่วงโซ่ ตาม มอก. 2861 เพื่อลดต้นทุน และเชื่อมโยงผลผลิตเข้าสู่มาตรฐานสากล
กลุ่มโรงงาน/ผู้ประกอบการ/บริษัทเอกชน จะได้รับการอบรมและเตรียมความพร้อมตามมาตรฐานการรับรอง พร้อมสมัครขอการรับรองในราคาพิเศษ (สมาชิก ส.อ.ท. มีส่วนลดพิเศษ)
..
จับคู่ดีอย่างไร
- ช่วยพัฒนาสวนยางและผลิตภัณฑ์ยางไทยให้มีการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน และได้รับรองมาตรฐานชาติ (มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม การจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (มอก.14061) และมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ห่วงโซ่การควบคุมผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ (มอก. 2861))
- ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยางทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย รวมถึงการตระหนักถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
- เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศจากยางพาราทั้งน้ำยางธรรมชาติ และไม้ยางพาราที่ได้การรับรองมาตรฐานชาติ
- ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรสวนยางให้มีต้นทุนลดลง และมีแหล่งขายผลผลิตที่แน่นอน มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยครัวเรือนละ 3,500-3,800 บาท ซึ่งรวมมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานโครงการ ประมาณ 2.1 ล้านบาท
..
ประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับในฐานะผู้ผลิตยางพาราและมีปริมาณผลผลิตมากเป็นเบอร์หนึ่งของโลก แต่ปัจจุบันไม่ได้มีเพียงประเทศไทยประเทศเดียวแล้ว เพราะตลาดมีความคาดหวังสูงในระบบคุณภาพและมาตรฐานของผลผลิต ซึ่งจะทำอย่างไรหากยังคงเดินหน้าเพื่อแข่งขันกับตลาดโลก และตอบสนองการเติบโตของอุตสาหกรรมในอนาคต ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยคำที่เรียกว่า “คุณภาพและมาตรฐาน” มาขจัดอุปสรรคทั้งหลายที่เกี่ยวข้องนั่นเอง