เมื่อวันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 สภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือจัดประชุมคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยมีนายรังสูนย์ ใสสะอาด ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวต้อนรับ นายสมยศ ชาญจึงถาวร ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวเปิดการประชุม และนายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดำเนินวาระประชุม ทั้งนี้ นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโส ส.อ.ท. นายอภิชิต ประสพรัตน์ นายธวัชชัย เฮงประเสริฐ พร้อมทั้งคณะกรรมการบริหาร ส.อ.ท. เข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังประเด็นปัญหาจากสมาชิกในพื้นที่ ณ ห้องประดับทอง อาคารแกรนด์บอลรูม ชั้น 1 โรงแรมเพชรรัชต์ จังหวัดร้อยเอ็ด
ในที่ประชุม ได้มีสรุปประเด็นสาระสำคัญ ดังนี้
1. การจัดประชุมสามัญจังหวัดให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ โดยขอให้บรรจุวาระเรื่องการแก้ไขข้อบังคับของสภาจังหวัด (การเปลี่ยนตราสัญลักษณ์ใหม่ การพิจารณาอัตราค่าบำรุงปี 2567 และการเปลี่ยนแปลงที่อยู่สำนักงาน) และหลังเสร็จสิ้นการประชุมภายใน 30 วัน ต้องส่งรายงานการประชุมมายังเจ้าหน้าที่ภาค เพื่อตรวจสอบและจัดเก็บเป็นฐานข้อมูลส่วนกลางและเพื่อเป็นข้อมูลให้กับคณะกรรมการสภาจังหวัดในวาระถัดๆ ไป
2. แผนงานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครอบคลุมเรื่องการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรมและสภาอุตสาหกรรมจังหวัด โครงการเพิ่มสมาชิก ส.อ.ท. การเยี่ยมเยือนกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อผลักดันนโยบาย ส.อ.ท. การผลักดันกลุ่มจังหวัดให้จัดประชุมอย่างน้อย 3 เดือน / ครั้ง เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและกลั่นกรองประเด็นแก้ไขปัญหาที่เป็นประโยชน์โดยรวม
3. การติดตามผลการดำเนินงานของ 5 กลุ่มจังหวัด เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในจังหวัด / กลุ่มจังหวัด ได้แก่
– การส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรมตามรูปแบบ BCG หรือโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซี่งประกอบด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เช่น อ้อย หม่อนไหม ที่อยู่ระหว่างการหารือกับสถานศึกษาในการเขียนแผนงานเพื่อของบประมาณ
– การผลักดันและแก้ไขปัญหาการบริการขนส่งสินค้าที่มีมูลค่าสูง ซึ่งระบบการขนส่งทางรางมีค่าบริการถูกกว่าแต่กลับไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ เนื่องจากมีปัญหาเรื่องหัวรถจักรเสีย ต้องรองบประมาณและไม่มีแคร่ขนสินค้า
– โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6 (อุบลราชธานี-สาละวัน) ได้รับมติเห็นชอบแผนโครงการก่อสร้างสะพานจากรัฐบาลไทยและรัฐบาล สปป.ลาว แต่ยังติดเรื่องงบประมาณในการก่อสร้าง
– ความคืบหน้าเขตนิคมอุตสาหกรรมเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี โดยครม. มีมติรับทราบความก้าวหน้ามาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเร่งขับเคลื่อน Bio Economy สอดรับ BCG ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment-EIA)
– การผลักดันมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตเศรฐกิจพิเศษชายแดน
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้ไปเยี่ยมชมสถานประกอบการห้างหุ้นส่วนจำกัด เจ เอ็ม ประดับยนต์ ผู้ผลิตอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ เช่น คิ้วล้อ สคู๊ปฝากระโปรง ซึ่งเป็นกิจการของประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดร้อยเอ็ด ณ ตำบลเมืองเปลือย อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ดอีกด้วย