เมื่อวันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้มอบหมาย ภก.ดร.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี รองประธาน ส.อ.ท. ด้วยความเห็นชอบของสายงานกฎหมาย ให้เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “ความร่วมมือทางเศรษฐกิจของรัฐกับเอกชน” ของนักศึกษาหลักสูตรการพัฒนานักกฎหมายภาครัฐระดับชำนาญการขึ้นไป รุ่นที่ 32 ณ โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส หลานหลวง กรุงเทพฯ
ภก.ดร.นิลสุวรรณ ได้นำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท. ที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนทั้งอุตสาหกรรมเดิม (First Industries) ที่ประกอบด้วย 45 กลุ่มอุตสาหกรรม (11 คลัสเตอร์) 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด (5 ภาค/คลัสเตอร์จังหวัด) และอุตสาหกรรมใหม่หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Next-GEN Industries) ที่ประกอบด้วย 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curves) รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “BCG” (Bio-Circular-Green Economy) หรือเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งจะมีบทบาทในทุกอุตสาหกรรม ตลอดจนการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศในภาคอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ ยังแสดงความคาดหวังของภาคเอกชนที่มีต่อภาครัฐว่าต้องการให้ภาครัฐเร่งปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะที่เป็นระบบ มีประสิทธิภาพต่อการพัฒนาประเทศ โดยภาครัฐควรเร่งแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย/ระเบียบต่างๆ เพื่อให้เกิดความสะดวกในการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน พร้อมทั้งให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือด้านกฎหมาย/ระเบียบต่างๆ และทำงานร่วมกับภาคเอกชนให้มากยิ่งขึ้น โดยใช้ศักยภาพความเชี่ยวชาญและนวัตกรรมจากเอกชนมาทำงานร่วมกัน และร่วมกันแก้ไขปัญหา พร้อมกำหนดนโยบายและวางแผนส่งเสริมเศรษฐกิจ เพื่อผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทุกมิติต่อไป