วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มอบหมายให้นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโส ส.อ.ท. เข้าประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ (ก.น.บ.) ครั้งที่ 1/2566 โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมว่านายกรัฐมนตรีย้ำคณะกรรมการ ก.น.บ. และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความสำคัญกับการบริหารราชการแนวใหม่ ที่มีการวางแผนในการปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบ สอดคล้องกันทุกหน่วยงาน รวมถึงการบูรณาการงบประมาณทั้งงบประมาณฟังก์ชัน งบประมาณจังหวัด ตลอดจนงบประมาณอื่น ๆ ตามนโยบายที่ได้จัดสรรลงไปในพื้นที่
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังเน้นย้ำถึงการจัดทำแผนงานโครงการต่าง ๆ ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดว่าต้องมีการกลั่นกรองจากพื้นที่และให้ตรงกับความต้องการของพื้นที่และท้องถิ่น รวมทั้งดำเนินการให้สอดคล้องกับงบประมาณที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด โปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ และมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันในเรื่องของการท่องเที่ยวต้องทำให้เกิดการเชื่อมโยงเมืองหลักและเมืองรอง รวมไปถึงการให้ความรู้และพัฒนาทักษะอาชีพให้กับคนในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มบุคคลที่ไม่ได้เรียนจบหรือผ่านสถาบันการศึกษาในระดับปริญญา แต่เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถและเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลต่างๆ จะต้องพัฒนาสร้างอาชีพให้กับบุคคลเหล่านี้ให้มีอาชีพที่มั่นคง และมีรายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัวด้วย เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในเรื่องการเร่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์หรือกำลังคนในประเทศ เพื่อให้ทันกับสถานการณ์และรองรับการพัฒนาประเทศในอนาคต
สำหรับที่ประชุมได้มีการพิจารณาและเห็นชอบในประเด็นสำคัญ ดังนี้
1. ผลการพิจารณากลั่นกรองแผนและโครงการของจังหวัด กลุ่มจังหวัด และส่วนราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ประกอบด้วย (1) แผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด พ.ศ. 2566 – 2570 ฉบับทบทวน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (2) แผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด จำนวนรวม 1,747 โครงการ 41,903.4617 ล้านบาท โดยเป็นงบประมาณที่เห็นควรสนับสนุนในกรอบวงเงิน จำนวน 1,346 โครงการ 29,314.5109 ล้านบาท และงบประมาณที่เห็นควรสนับสนุนเกินกรอบวงเงิน จำนวน 401 โครงการ 12,588.9508 ล้านบาท และ (3) ข้อเสนอโครงการของส่วนราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่สอดคล้องกับเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาภาค จำนวน 364 โครงการ โดยให้สำนักงบประมาณให้ความสำคัญและพิจารณาสนับสนุนงบประมาณต่อไป
2. นโยบาย หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดทำเป้าหมายและทิศทางการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด และการจัดทำแผนและโครงการของจังหวัด กลุ่มจังหวัด และส่วนราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 – 2570 ประกอบด้วย (1) นโยบาย หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำเป้าหมายการพัฒนาจังหวัด 20 ปี (2) หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำวัตถุประสงค์และทิศทางการพัฒนาในอนาคตของกลุ่มจังหวัด (3) นโยบาย หลักเกณฑ์ วิธีการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด และแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด พ.ศ. 2566 – 2570 ฉบับทบทวน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 – 2570 (4) หลักเกณฑ์การจัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 – 2570 (5) แนวทางการกำหนดกรอบการจัดสรรงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 – 2570 (6) หลักเกณฑ์การปรับปรุงแผนปฏิบัติราชการประจำปี และการเปลี่ยนแปลงโครงการของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 – 2570 (7) การจัดทำร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ (ก.น.บ.) รวม 3 เรื่อง (8) แนวทางการดำเนินการของส่วนราชการตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2565 (9) หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำข้อเสนอโครงการของส่วนราชการที่สอดคล้องกับเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาภาค พ.ศ. 2566 – 2570 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 – 2570 และ (10) ปฏิทินการดำเนินงานภายใต้กลไก ก.น.บ. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 – 2567
3. การเปลี่ยนแปลงโครงการใหม่ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 24 โครงการ 246,093,961.27 บาท โดยนายอนุชากล่าวเสริมว่านายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ ดังนี้ (1) ให้ความสำคัญกับการดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดที่มีความสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล โดยมุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนดำเนินงานเชิงรุกให้มากขึ้น และร่วมกันขับเคลื่อนแผนงานโครงการให้บรรลุเป้าหมาย โดยการดำเนินงานต้องมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ (2) มีการบูรณาการแผนฯ ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเกิดความคุ้มค่าและเหมาะสมตามความจำเป็น (3) ให้ความสำคัญกับการติดตามประเมินผลการดำเนินงานในระยะที่ผ่านมา เพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม และ (4) สื่อสารเกี่ยวกับการดำเนินงานพัฒนาให้ทุกภาคส่วนและประชาชนได้รับรู้และสร้างความเข้าใจร่วมกัน