ธุรกิจถูกขยี้ด้วยเทคโนโลยี !…วลีนี้ต้องยอมรับกันอย่างไร้ข้อกังขาเสียทีว่า ปัจจุบันเรากำลังอยู่ในยุคเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันและก้าวหน้าแบบไม่มีหยุดเสียด้วย อาจกล่าวได้เต็มปากว่าเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวอีกต่อไปแล้ว
แน่นอนในเชิงการทำธุรกิจก็เช่นกัน ไม่ว่าจะแบบออฟไลน์หรือออนไลน์ ต้องเข้าใจความสำคัญและประโยชน์ของเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะนำมาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยยกระดับอนาคตของธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากสินค้าหรือผลิตภัณฑ์นั้น ๆ สามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งผลิต และบันทึกข้อมูลได้ปริมาณมาก ๆ ตลอดจนมีความปลอดภัยและยืนยันความถูกต้องแม่นยำของข้อมูลได้ ก็เท่ากับเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคและซัพพลายเชนได้เป็นอย่างดี เฉกเช่นเดียวกับการนำประโยชน์ของ “บาร์โค้ด” ไปใช้งานกับภาคธุรกิจหรืออุตสาหกรรมซึ่งพัฒนามาไกลจนเป็นระบบ 2 มิติ (2D Barcode)
..
เรื่องเล่าของบาร์โค้ด
รหัสแท่ง อาจเป็นคำที่ไม่คุ้นหูเท่าไรนัก แต่หากพูดว่า บาร์โค้ด หลายคนคงจะนึกภาพออกทันที
บาร์โค้ด (Barcode) ถูกยกระดับการบริการให้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องและถูกนำไปใช้งานอย่างแพร่หลายแทบจะครอบคลุมทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจค้าปลีก ขนส่งโลจิสติกส์ โฆษณาสินค้า ยาหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น เพราะที่บรรจุภัณฑ์ของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดเกือบทุกชิ้นจะปรากฏสัญลักษณ์นี้อยู่ ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ จากบาร์โค้ดจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการซัพพลายเชน (Supply Chain) ได้อีกด้วย
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว จะขอให้ข้อมูลบาร์โค้ด (Barcode) สักเล็กน้อยเกี่ยวกับระบบมาตรฐานสากลของบาร์โค้ดที่รู้จักและนิยมใช้งานกัน มีด้วยกัน 2 ระบบ คือ
- ระบบ UPC (Universal Product Code) เริ่มใช้เมื่อราว พ.ศ. 2517 ในประเทศสหรัฐอเมริกา และแคนาดา
- ระบบEAN(European Article Numbering) เริ่มใช้เมื่อประมาณ พ.ศ. 2520 เป็นระบบมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับและแพร่หลายในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งในยุโรป เอเชียและแปซิฟิก ออสเตรเลีย ละตินอเมริกา รวมทั้งประเทศไทยด้วย ซึ่งมีลักษณะเป็นเลขชุด 13 หลัก โดยมีสถาบันรหัสสากล (GS1 Thailand) ทำหน้าที่เป็นนายทะเบียน กำกับดูแลและให้คำปรึกษาการนำระบบมาตรฐานสากลไปประยุกต์ใช้
โดยต่อมาบาร์โค้ดทั้ง 2 ระบบนี้ถูกผนวกรวมให้อยู่ใต้มาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้สะดวกต่อการบริหารจัดการสินค้าในระดับสากล ภายใต้ชื่อมาตรฐานสากล GS1 หรือ The First of Global Standard ซึ่ง EAN และ UPC จัดเป็นบาร์โค้ดประเภท 1 มิติ (1D Barcode) ที่มีลักษณะแถบเส้นตรงสีดำสลับเส้นสีขาว (สีที่องค์กร GS1 แนะนำให้ใช้ เพราะจะทำให้อ่านค่าบาร์โค้ดได้ดีที่สุด)
..
เมื่อบาร์โค้ด 1 มิติ ถูกพัฒนาให้เป็น 2 มิติ…สำคัญอย่างไรกับเจ้าของสินค้าและผู้บริโภค
เมื่อความต้องการของผู้บริโภคและซัพพลายเชนเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น เทคโนโลยีบาร์โค้ดจึงต้องถูกพัฒนาให้ทันกับความต้องการ
โดยรูปร่างหน้าตาของบาร์โค้ด 2 มิติ (2D Barcode ) มีหลายประเภทและลักษณะต่างกันตามความนิยม เช่น Data Matrix หรือ QR Code (Quick Response), GS1 DataMatrix, GS1 QR Code เป็นต้น โดยเฉพาะแบบ QR Code นี้ เชื่อมั่นว่าหลายคนคงคุ้นชินกับการใช้งานกันมากแล้ว
ทั้งนี้ ในระบบมาตรฐานสากล GS1 นั้น ระบบบาร์โค้ด 2 มิติ ก็มีหลายประเภท สัญลักษณ์ที่นิยม ได้แก่ GS1 DataMatrix ที่ถูกนำมาใช้เพื่อจุดประสงค์ในการบ่งชี้ติดตาม และตรวจสอบย้อนกลับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Health Product) และปัจจุบันยังมีการนำมาใช้การป้องกันการขายสินค้าหมดอายุที่จุดขายในร้านค้าปลีกโดยเฉพาะอาหารสดหรืออาหารพร้อมทาน (Ready to Eat) และ QR Code – GS1 Digital Link บาร์โค้ด 2 มิติน้องใหม่มาแรง ที่องค์กร GS1 พัฒนามาตรฐานสากลเข้าไปเพิ่ม ตอบโจทย์ทั้งด้านการจัดการซัพพลายเชนและการสื่อสารของแบรนด์ไปยังผู้บริโภค เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีสมาร์ตโฟนที่ช่วยอ่าน QR Code – GS1 Digital Link ได้ง่าย บาร์โค้ดประเภทนี้จึงถูกนำมาใช้เพื่อแสดงข้อมูลเพิ่มเติมของสินค้า เช่น ข้อมูลความปลอดภัย การแพ้ วิธีการใช้งาน การรีไซเคิล หรือเอกสารกำกับยา รวมถึงข้อมูลประชาสัมพันธ์สินค้านั้น ๆ ซึ่งต้องบอกว่าบาร์โค้ด 2 มิติ ทั้งสองประเภทนี้มีความสำคัญต่อภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบันเป็นอย่างมาก
ทำไมนะหรือ ?
เพราะอุตสาหกรรมค้าปลีกทั่วโลกกำลังตื่นตัวที่จะปรับเปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องอ่านบาร์โค้ดและโปรแกรมที่จุดขายหน้าร้าน (POS: Point of Sale) ให้รองรับการอ่านข้อมูลจากบาร์โค้ด 2 มิติ ตามมาตรฐานสากล GS1 ตามที่ได้แนะนำไปได้ ในวงการเรียกกันว่า ยุทธศาสตร์ Ambition 2027 ที่ตั้งเป้าว่าภายในปีค.ศ. 2027 (พ.ศ. 2570) อุตสาหกรรมค้าปลีกทั่วโลกจะสามารถสแกนอ่านบาร์โค้ด 2 มิติตามมาตรฐานสากล GS1 ได้ทุกประเภท และผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้บาร์โค้ด 2 มิติประเภทใดก็ได้ในการบ่งชี้สินค้าของตนเองเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของคู่ค้า ผู้บริโภค กฎหมายของประเทศปลายทาง หรือเจ้าของสินค้าเอง ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ดังกล่าวไม่ได้กล่าวว่าจะยุติการใช้บาร์โค้ด 1 มิติแต่อย่างใด
แต่ก็ไม่แน่ว่า ด้วยประโยชน์ของบาร์โค้ด 2 มิติ ที่มากกว่าบาร์โค้ด 1 มิติในหลายๆ ด้าน ในอนาคตหากตลาดทั่วโลกพร้อมทุกภาคส่วนแล้ว เราอาจจะเห็นการใช้งานบาร์โค้ด 2 มิติบนบรรจุภัณฑ์สินค้ามากขึ้นๆ และในขณะเดียวกันอาจจะเห็นการใช้งานบาร์โค้ด 1 มิติน้อยลง ๆ จนอาจจจะหายไปจากตลาดเลยก็เป็นได้ แต่ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ หลาย ๆ ท่านจะเริ่มเห็นว่ามีการพิมพ์บาร์โค้ด 1 มิติ และบาร์โค้ด 2 มิติ อยู่คู่กันอยู่บนฉลากสินค้า ก็เนื่องจากความพร้อมที่ไม่เท่ากันของร้านค้าปลีกนั่นเอง ร้านค้าปลีกที่ยังไม่พร้อมปรับเปลี่ยนอุปกรณ์หรือโปรแกรมมาอ่านข้อมูลบาร์โค้ด 2 มิติ ก็จะยังสามารถอ่านข้อมูลบาร์โค้ด 1 มิติได้อยู่ สำหรับร้านค้าปลีกที่พร้อมแล้วจะสามารถอ่านข้อมูลบาร์โค้ด 2 มิติ ในการจัดการการขาย การตัดสต๊อก การจัดการสินค้าคงคลัง และสามารถใช้ฟังก์ชันการป้องกันการขายสินค้าหมดอายุที่จุดขายได้ (หากบาร์โค้ด 2 มิตินั้นมีข้อมูลวันหมดอายุด้วย) รวมไปถึงการตรวจสอบย้อนกลับและเรียกคืนสินค้าได้อย่างรวดเร็วและสุดท้ายคือช่วยทำให้ระบบบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า (CRM) ดีขึ้นอีกด้วย ประโยชน์เหล่านี้จะส่งผลไปยังภาพรวมของซัพพลายเชนทั้งประเทศ เพราะจะทำให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานภาครัฐผู้ทำหน้าที่กำกับดูแล ที่จะสามารถช่วยติดตามควบคุมได้ง่ายขึ้น ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ประชาชนได้
เห็นไหมว่าบาร์โค้ด 2 มิติ มีประโยชน์ต่อทั้งภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐธุรกิจ และผู้บริโภคจริง ๆ

พร้อมเปลี่ยนแปลง (ไหม)
ธุรกิจร้านค้าและเจ้าของสินค้ายังพอมีเวลา 4 ปี เพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินการ ซึ่งก่อนจะถึง Ambition Sunrise 2027 ธุรกิจร้านค้าปลีกต้องทำการอัปเกรดฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ รวมถึงเครื่องพิมพ์บาร์โค้ดและเครื่องอ่านหรือ Barcode Scanner ไว้ด้วย เพื่อให้สามารถรองรับการใช้เครื่องหมายงานบาร์โค้ด 2 มิติ ตามมาตรฐานสากล GS1 เหล่านี้ได้
..
สำหรับการเตรียมตัวในฝั่งของเจ้าของสินค้า ผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกสถาบันรหัสสากล (GS1 Thailand) อยู่แล้ว จะไม่มีค่าใช้จ่ายในส่วนของการสมัครสมาชิกบาร์โค้ดเพิ่มเติม แต่ควรเริ่มต้นศึกษาข้อมูลวิธีการประยุกต์ใช้งานบาร์โค้ด 2 มิติ ดังกล่าว ทั้งนี้ หากต้องการใช้งานบาร์โค้ด 2 มิติ ที่มีข้อมูลการผลิต (Production Information) เช่น Batch/Lot หรือวันหมดอายุ พิมพ์อยู่ในบาร์โค้ดด้วย อาจจะต้องมีการลงทุนเรื่องระบบการพิมพ์บาร์โค้ดที่ไลน์ผลิตเพิ่มเติม ซึ่งสามารถตรวจสอบข้อมูลได้จากผู้ให้บริการระบบการพิมพ์ที่ใช้บริการอยู่ หรือติดต่อสถาบันรหัสสากล (GS1 Thailand) หากยังเริ่มต้นไม่ถูก จะขอเชิญชวนมาดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน GS1 สมาร์ทบาร์ (GS1 SmartBar) ฟรี ผ่านทาง Android และ iOS เพื่อใช้ตรวจสอบข้อมูลสมาชิก GS1 Thailand เบื้องต้น ซึ่งแอปดังกล่าวยังช่วยสื่อสารข้อมูลเบื้องต้นของสินค้าไปยังผู้บริโภคได้อีกด้วย เพียงเท่านี้ การยกระดับมาตรฐานธุรกิจก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป
