ภาคอุตสาหกรรมยังมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจอย่างมาก แต่หากกระบวนการผลิตก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศหรือสิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนโดยรอบแล้ว ปัญหาความขัดแย้งและไม่ยอมรับของสังคมและชุมชนก็จะเกิดเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนและการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง
โจทย์ทุกวันนี้ก็คือ ภาคอุตสาหกรรมยังต้องปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อความอยู่รอดและการอยู่ร่วมกับชุมชนสังคมให้เป็นไปอย่างปกติสุขและสร้างสรรค์ ตลอดจนร่วมกันสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นในรูปแบบของการพัฒนา/ปรับปรุงกระบวนการผลิต และการบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างไรด้วย
..
การพัฒนาที่ยังไม่ยั่งยืน
ทุกวันนี้ลองมาพิจารณาปัญหาฝุ่น PM 2.5 หรือปรากฏการณ์ก๊าซเรือนกระจกรอบ ๆ ตัวดู หลายคนอาจเห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัวจึงไม่สนใจ และไม่รู้สึกเดือดร้อนเท่าไรนัก บางคนอาจตั้งคำถามว่า “มันเกี่ยวอะไรกับเราหรือเปล่า ?”
ขณะนี้ประเทศไทยเสี่ยงต่อการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก ด้วยผลจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลง (ผลอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันโลกสะท้อนความท้าทายศักยภาพธุรกิจไทย) ไม่ว่าจะเป็นความสามารถของภาคการผลิต การค้า การบริการ รวมถึงผู้ประกอบการ และบุคลากรในองค์กร
ดังนั้น การทำความเข้าใจและศึกษาถึงแนวความคิด ตลอดจนหลักการของการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้ลึกซึ้ง จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการนำไปประยุกต์และปฏิบัติตามทิศทางการพัฒนาที่เปลี่ยนไป โดยที่หากการพัฒนามีการคำนึงถึงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ไปพร้อม ๆ กันอย่างสมดุลโดยไม่เอียงข้างใดข้างหนึ่งคงจะดีมากทีเดียว
..
จุดเริ่มต้นที่ยั่งยืนสู่การพัฒนาที่จับต้องได้
การประกอบธุรกิจหรือกิจการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คือ คำตอบที่จะแก้ปัญหาการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขระหว่างสถานประกอบการ/โรงงานกับชุมชนและสังคม และเป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของสถานประกอบการ/โรงงานอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐบาลได้มอบกรอบยุทธศาสตร์ ตลอดจนแผนปฏิบัติการการพัฒนาและตัวชี้วัดในเรื่องของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามแนวคิดของ BCG มาให้แล้ว เราในฐานะผู้ปฏิบัติและเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ก็ควรมีบทบาทในการดูแลรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคมให้เกิดความยั่งยืนทั้งระบบนิเวศ (Ecosystem) ด้วย
ปัจจุบันการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนและสังคมภายใต้การดำเนินงานของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แบ่งออกเป็นดังนี้
1. การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) คือ การพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยให้มีความเชื่อมโยงของภาคอุตสาหกรรมกับหน่วยงานต่าง ๆ ให้เกิดการสร้างเศรษฐกิจชุมชน อุตสาหกรรมที่ดี พร้อมกับมีการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชนและสังคม สู่เป้าหมายสุดท้ายให้เกิด “เมืองน่าอยู่ คู่อุตสาหกรรม” ที่ชุมชนและอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกันได้ เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ซึ่งปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว 39 จังหวัด 54 พื้นที่
มิติการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ประกอบด้วย 5 มิติ ได้แก่ กายภาพ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และการบริหารจัดการ ทั้งนี้ ในการผลักดันการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศนั้น จะต้องมีเมืองต้นแบบ “เมืองน่าอยู่ คู่อุตสาหกรรม” อย่างน้อย 40 แห่ง โดยแบ่งการพัฒนาพื้นที่ออกเป็น 3 ระยะ
- ระยะแรก : 15 จังหวัด 18 พื้นที่ ได้แก่ สมุทรปราการ สมุทรสาคร ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี ปทุมธานี นครปฐม ราชบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี และ สงขลา
- ระยะที่ 2 : พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 4 จังหวัด ได้แก่ มุกดาหาร สระแก้ว ตาก และ ตราด
- ระยะที่ 3 : 20 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี เพชรบุรี สุพรรณบุรี เชียงราย เชียงใหม่ กำแพงเพชร นครสวรรค์ ชุมพร ลำปาง ลำพูน ชัยภูมิ นครศรีธรรมราช ภูเก็ต พิษณุโลก บุรีรัมย์ อุดรธานี อุบลราชธานี ประจวบคีรีขันธ์ กระบี่ และลพบุรี
ตัวอย่างของกิจกรรมที่มีการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดเป็นโมเดลต้นแบบในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่
- เมือง BCG – Eco Industrial Town“ ระยอง-ชลบุรี” เพื่อเชื่อมโยงและส่งเสริมกิจกรรมด้านเกษตร ท่องเที่ยว และอุตสาหกรรม
- กิจกรรมท่องเที่ยวระยองเชิงนิเวศ เพื่อเชื่อมโยงอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว เกษตรกรรม
2. การพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมให้เกิดเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน ภายใต้ ส.อ.ท. ดำเนินการผลักดันให้เกิดโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) มาตั้งแต่ปี 2557 เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมประเมินสมรรถนะของระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (Environmental Management Systems) ของกิจกรรมองค์กรตลอดวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Perspective) ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและก่อให้เกิดผลผลิตสีเขียว (Green Productivity) มากที่สุด จนเป็นที่ยอมรับของชุมชนแวดล้อม ทำให้สามารถยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนด้วยหลักความร่วมมือเกื้อกูล และพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
โดยในปัจจุบันมีสถานประกอบการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) แล้วทั้งหมด 380 แห่ง
..
ยกระดับสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) กระตุ้นการลงทุนใหม่ สอดรับ BCG-SDGs
โมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ควบคู่ไปกับการพัฒนาด้วยการปรับ เปลี่ยน และส่งเสริมให้สถานประกอบการ/โรงงานทั่วประเทศใส่ใจในการดำเนินกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมุ่งมั่นพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยการยกระดับไปสู่การรับรองว่าเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) แบ่งออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่
ระดับที่ 1 ความมุ่งมั่นสีเขียว (Green Commitment) คือ การแสดงความมุ่งมั่นในรูปแบบของนโยบาย เป้าหมายและแผนงานที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีการสื่อสารภายในองค์กรให้ทราบโดยทั่วกัน
ระดับที่ 2 การปฏิบัติสีเขียว (Green Activity) คือ การดำเนินกิจกรรมตามนโยบาย เป้าหมายและแผนงานที่กำหนดเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมและสำเร็จตามความมุ่งมั่นที่ตั้งไว้
ระดับที่ 3 ระบบสีเขียว (Green System) คือ การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ มีการติดตาม ประเมินผลและทบทวนเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่องหรือการได้รับรางวัลด้านสิ่งแวดล้อมอันเป็นที่ยอมรับ หรือได้รับการรับรองมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมต่างๆ
ระดับที่ 4 วัฒนธรรมสีเขียว (Green Culture) คือ การที่ทุกคนในองค์กรมีจิตสำนึกร่วมกันในการสงวนและรักษาไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมที่ดีและให้ความร่วมมือร่วมใจในทุกด้านของการประกอบกิจการให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และดำเนินการต่างๆ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร
ระดับที่ 5 เครือข่ายสีเขียว (Green Network) คือ การขยายขอบเขตของการเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวจากภายในองค์กรเองออกสู่ภายนอกตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) โดยสนับสนุนให้คู่ค้าและพันธมิตรเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวด้วย
แต่ละระดับจะเป็นตัวชี้วัดสมรรถนะของความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของโรงงานอุตสาหกรรมว่ามีมากน้อยเพียงใด อีกทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อยกระดับและผลักดันคุณภาพชีวิตของทุกคนด้วย
..
การพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมควบคู่กับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ประสบความสำเร็จได้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน รวมถึงเวลาและความพร้อมของทุกภาคส่วนด้วย จึงจะเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน
แต่การพัฒนาใด ๆ เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนจะมีความหมาย ขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเราทุกคนมองว่านี่คือเรื่องเดียวกัน!
