โดย สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
หลังจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการผลิต และการประกอบการอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอย่างมาก อาทิ การขยายตัวของเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของประชากร ประกอบกับการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างกว้างขวาง ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากการใช้แรงงานคนไปสู่การใช้เครื่องจักร ส่งผลให้เศรษฐกิจที่พึ่งพาการเกษตรหันไปสู่การพึ่งพาอุตสาหกรรมมากขึ้น รวมทั้งการค้นพบผลิตภัณฑ์และสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่ทำให้ประชากรโลกมีความเป็นอยู่ที่สุขสบาย มีข้าวของเครื่องใช้ และสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น แต่ระหว่างที่ประชากรโลกกำลังเพลิดเพลินกับการดำรงชีวิตโดยพึ่งพาเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ และวิทยาการสมัยใหม่มากว่า 300 ปี ลืมนึกถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต เช่น การค้นหาทรัพยากรเพื่อเป็นวัตถุดิบของภาคอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นการถลุงแร่ การขุดเจาะหาแหล่งพลังงานใต้ผิวโลกจากฟอสซิล เพื่อเป็นแหล่งพลังงานหลักของโลก
หลายทศวรรษที่ผ่านมา การเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมอุตสาหกรรมมานานกว่า 300 ปี เริ่มส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของโลกในหลายสิ่ง หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างเด่นชัดคือ การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิของโลก ความพยายามของประชาคมโลกในการประสานความร่วมมือกำหนดทิศทาง นโยบาย และริเริ่มโครงการมากมาย ล้วนมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ การควบคุมอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงมากไปกว่านี้
..
ทวีความเข้มงวดเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
พิธีสารเกียวโต นับว่าเป็นข้อตกลงในระยะแรก ๆ ที่ประชาคมโลกให้ความสนใจต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) ก่อให้เกิดแนวคิดของคาร์บอนเครดิตและการซื้อขายคาร์บอนเครดิต รวมถึงการให้สัตยาบันในการร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกลุ่มสมาชิกที่เข้าข่ายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณสูง
ความพยายามของประชาคมโลกต่อการดำเนินกิจกรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะถูกขับเคลื่อนในแต่ละภูมิภาคของโลก และทวีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป หรือ EU (European Union) ที่ดูกำหนดทิศทางและการดำเนินกิจกรรมเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเข้มงวดและจริงจัง
การออกมาตรการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ EU ไม่ใช่ครั้งแรกที่ EU ออกข้อกำหนดเพื่อบังคับใช้เพียงประเทศสมาชิก แต่ประเทศนอกกลุ่ม EU ที่เป็นประเทศคู่ค้า ล้วนถูกมาตรการนี้บังคับใช้ทางอ้อม เช่นเดียวกับระเบียบอื่น ๆ ที่ EU บังคับใช้มาก่อนหน้า ยกตัวอย่างเช่น ระเบียบ REACH ซึ่งเป็นระเบียบการจัดการสารเคมีที่จะนำเข้าสู่ EU ไม่ว่าจะในรูปของสารเจือปนในสินค้า หรือการนำเข้าสารเคมีโดยตรง ที่ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับข้อกำหนดดังกล่าวในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
EU Green Deal คือ นโยบายของสหภาพยุโรป ในการเปลี่ยนผ่านกิจกรรมเศรษฐกิจสีเขียว ที่เรียกว่า มาตรการ Fit for 55 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 55 % ภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) โดยเทียบกับปี 1990 (พ.ศ. 2533) และมีเป้าหมายสู่การเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในปี 2050 (พ.ศ. 2593) ซึ่งครอบคลุมมาตรการ ดังนี้
- สิทธิการซื้อขายและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- การคมนาคมสีเขียวทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ
- อัตราภาษีธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- การใช้พลังงานทดแทน
- ตั้งเป้าหมายการดูดซับก๊าซเรือนกระจก
- มาตรการปรับคาร์บอนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM)

ส่งออกไทยต้องรู้ก่อน EU บังคับใช้จริง
หนึ่งในมาตรการสำคัญที่เรียกได้ว่ามีผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยที่เป็นคู่ค้าของประเทศในกลุ่ม EU คือ มาตรการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นมาตรการภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ที่เป็นกลไกการปรับคาร์บอนข้ามพรมแดน หรือ CBAM ซึ่งเกิดจากการที่ EU ใช้มาตรการ EU ETS (Emission Trading Scheme) เก็บภาษีสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมากเกินกว่าปริมาณที่กำหนดไว้ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาการรั่วไหลของคาร์บอน (Carbon Leakage) กล่าวคือ ผู้ประกอบการใน EU ซึ่งมีต้นทุนดำเนินงานลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่าประเทศนอกเขต EU ซึ่งประเทศเหล่านั้นอาจไม่ได้มีมาตรการในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่เข้มงวดเท่าใน EU มีการย้ายฐานการผลิตไปยังในประเทศที่มีมาตรการด้านการปล่อยก๊าซคาร์บอนเข้มงวดน้อยกว่า ทำให้ภาระต้นทุนสินค้าในการผลิตต่ำกว่า หลังจากนั้นจึงส่งสินค้าที่ผลิตได้กลับเข้ามาขายใน EU ส่งผลให้เกิดความได้เปรียบด้านต้นทุน ซึ่งไม่ได้ทำให้ EU แก้ปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้อย่างเต็มที่ และแน่นอนว่าผู้บริโภคย่อมเลือกซื้อสินค้าราคาถูกเพราะมีต้นทุนต่ำกว่า เป็นการสร้างความไม่เป็นธรรมให้แก่ผู้ประกอบการใน EU ที่ดำเนินมาตรการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนอย่างจริงจังโดยที่มีต้นทุนการดำเนินงานที่สูงกว่า
มาตรการ CBAM จึงกำหนดให้เก็บค่าใบรับรองคาร์บอน (Carbon Certificate) ในสินค้าที่นำเข้า EU โดยประเมินจากส่วนต่างของปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนของสินค้ากับปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่อนุญาตให้มีการปล่อยได้ในสินค้าแต่ละประเภท เพื่อเป็นค่าปรับในสินค้านำเข้าที่มีมาตรการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำกว่า ดังนั้น สินค้าจากผู้ประกอบการภายใน EU ที่ทำให้เกิด Carbon Leakage หรือสินค้าจากผู้ผลิตภายนอก EU ที่ส่งสินค้าไปจำหน่ายใน EU จะมีต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมเทียบเท่ากับสินค้าที่ผลิตใน EU ทำให้ลดความได้เปรียบทางการค้าของสินค้าประเภทเดียวกัน เพราะ EU เน้นหลักความเท่าเทียมของสินค้าประเภทเดียวกัน ที่ไม่ว่าจะมาจากภายในหรือภายนอก EU จะต้องได้รับการปฏิบัติบนมาตรฐานเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านกฎระเบียบ หรือข้อกำหนดอื่นใด
จากที่กล่าวมา ทำให้ผู้ประกอบการในประเทศคู่ค้ากับกลุ่ม EU ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวเช่นกัน เบื้องต้น CBAM มีผลกับสินค้า 5 กลุ่ม ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า ปุ๋ย ซีเมนต์ ไฟฟ้า อะลูมิเนียม ไฮโดรเจน และมีแนวโน้มจะขยายไปสู่สินค้ากลุ่มอื่น ๆ อีก ได้แก่ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ พลาสติก แก้ว เซรามิก ยิปซัม กระดาษ และโพลิเมอร์ นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มจะขยายขอบเขตให้ครอบคลุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนทางอ้อม (Indirect Emissions) ซึ่งก็คือการใช้ไฟฟ้าในกระบวนการผลิตของสินค้าทั้ง 9 กลุ่ม
CBAM เริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2566 โดยผู้ผลิตที่จะส่งสินค้าเข้าไปขายใน EU จะต้องแสดงตัวเลขปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือค่าการปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งจะยังไม่มีการจ่ายค่าปรับ จนกว่าจะถึงวันที่ 1 มกราคม 2569 ผลกระทบของ CBAM เป็นลักษณะคล้ายภาษีดังที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งเป็นลักษณะของภาษีคาร์บอน (Carbon TAX) ที่ทำให้ต้นทุนสินค้าของที่นำเข้าสู่ EU มีราคาสูงขึ้นจาก CBAM Certificate ทำให้สินค้าใน EU อาจมีราคาต่ำกว่าสินค้านำเข้า
สำหรับปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่ต้องรายงาน ในปัจจุบันทาง EU ยังไม่ได้กำหนดมาตรฐานชัดเจนอย่างเป็นทางการว่ามีหลักการประเมินอย่างไร แต่หากเทียบกับการดำเนินงานในประเทศไทยแล้ว ผู้ประกอบการสามารถเตรียมตัวโดยเทียบเคียงกับหลักการประเมินคาร์บอนฟุตพรินท์ (Carbon Footprint) ของผลิตภัณฑ์ เนื่องจากเป็นการพิจารณาปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดปล่อยออกมาตลอดวัฏจักรชีวิต ส่วนทาง EU จะมีข้อกำหนดให้มีการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมอื่น ๆ เพิ่มเติมหรือไม่ คงต้องติดตามประกาศของทาง EU ต่อไป