..
บทความนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.ภก. ชาญณรงค์ เตชะอังกูร ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มาแบ่งปันข้อมูลที่น่าสนใจและความสำคัญของเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งจะทำให้หลายคนรู้จักเทคโนโลยีชีวภาพมากขึ้น และเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันอย่างไรที่เราต้องรู้
เทคโนโลยีชีวภาพผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง
ประเทศไทยรู้จักการใช้เทคโนโลยีชีวภาพมานานแล้ว จัดเป็นเทคโนโลยีชีวภาพแบบดั้งเดิม (Classical Biotechnology) ที่ค่อนข้างง่าย ไม่ว่าจะเป็นการหมักประเภทต่าง ๆ ที่เราต่างคุ้นเคยกันดี เช่น น้ำปลาร้า น้ำปลา ซีอิ๊ว สุรา เป็นต้น ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานเพื่อให้ได้ผลผลิตดี มีคุณภาพ โดยเทคโนโลยีชีวภาพนั้นถูกพัฒนาและยกระดับอย่างต่อเนื่อง จากเทคโนโลยีชีวภาพแบบดั้งเดิม จนกลายเป็นเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ (Modern Biotechnology)
ด้วยความที่ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ไม่ว่าจะเป็นพืช สมุนไพร สัตว์น้ำ ซึ่งเป็นทุนพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศและการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน จึงสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้หลายมิติ ที่สำคัญยังมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงด้านอุตสาหกรรม เช่น จากอุตสาหกรรมพลาสติก เป็นพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic), เส้นใยชีวภาพ (Biofabrics) ซึ่งเป็นเส้นใยธรรมชาติจากพืช, เคมีชีวภาพ (Biochemical), ปุ๋ยเคมี (Biofertilizer), อาหารแห่งอนาคต (Future Food), อาหารที่ผลิตขึ้นมาใหม่ทางนวัตกรรม (Novel Food), ยาชีวภาพ (Biological Medicine), วัคซีน หรือแม้กระทั่งการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานที่ยั่งยืนจากเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel)

..
การขับเคลื่อนเทคโนโลยีชีวภาพของอุตสาหกรรมไทยสู่อนาคต
กลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ จะขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้นโยบาย ONE FTI ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Next-GEN Industries) ที่นำไปสู่การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมไทย เพื่อประเทศไทยที่เข้มแข็งกว่าเดิม ตลอดจนเป็นไปตามทิศทางกรอบการขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของภาครัฐ ที่อยู่บนพื้นฐานของ 1) เกษตรและอาหาร 2) สุขภาพและการแพทย์ 3) พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และ 4) การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายของภาครัฐในการผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ หรือ Bio Hub ของเอเชียภายในปี 2570
เทคโนโลยีชีวภาพในอนาคตที่น่าจับตามอง ได้แก่ การผลิตเนื้อเทียม, การผลิตยาที่เหมาะกับแต่ละบุคคล (Personalized Medicine), พันธุวิศวกรรม (Genetic Engineering) โดยแผนพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนอีกด้วย ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีชีวภาพเข้าสู่หนึ่งในอุตสาหกรรมหลักในการพัฒนาประเทศ นอกเหนือจากนั้นยังสนับสนุนการกระจายความรู้ด้านเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อสนับสนุนการแพทย์และการเกษตรให้มากขึ้น
ด้านอาหารเสริมสุขภาพ (Functional Food) และอาหารที่ผลิตขึ้นมาใหม่ทางนวัตกรรม (Novel Food) ซึ่งเป็นเทรนด์โลกที่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพไทย ก็ควรพัฒนาสู่อนาคตด้วย
..
ลงทุนวิจัยพัฒนาเพื่อต่อยอดอนาคต
เทคโนโลยีชีวภาพเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของการพัฒนาในหลายด้าน ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า เทคโนโลยีชีวภาพได้สร้างประโยชน์มากมายต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์จนน่าประหลาดใจ แต่หลายคนคงสงสัยว่าทิศทางของเทคโนโลยีชีวภาพในอนาคตจะเป็นอย่างไร เมื่อปัจจุบันยังต้องเผชิญหน้ากับสังคมผู้สูงอายุ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และยิ่งไปกว่านั้นต้องรองรับจำนวนประชากรโลกที่จะเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 9 พันล้านคน ภายในปี 2593 ซึ่งจะรองรับได้ในระดับไหน
ดังนั้น การวิจัยและพัฒนา (R&D) จะมาตอบโจทย์ทุกสรรพสิ่ง รวมถึงเหตุผลที่ว่าทำไมต้องเร่งรัดการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพด้วย คงหนีไม่พ้นภาครัฐซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันกรอบนโยบายการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศไทย การปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อให้เกิดการลงทุนวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีชีวภาพเพิ่มขึ้น การจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิจัยให้มากขึ้นเพื่อการพัฒนาความสามารถด้านเทคโนโลยีชีวภาพของอุตสาหกรรมไทย ตลอดจนการวิจัยที่ตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของภาคอุตสาหกรรม และการผลิตบุคลากรวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพโดยเฉพาะที่ยังมีอยู่น้อยมาก
..

อย่างไรก็ดี การปรับเปลี่ยนและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพให้ทันสมัย นอกจากจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและสร้างความมั่นคงของประเทศแล้ว ยังจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอีกด้วย