เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2566 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พร้อมด้วยนายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก นางพัชรินทร์ โพธิ์ศิริสุข นางบัญชุสา พุทธพรมงคล กรรมการ ส.อ.ท. เข้าร่วมงานวันคล้ายวันสถาปนาสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ครบรอบ 25 ปี ณ โรงแรมอโนมา แกรนด์ กรุงเทพฯ
นายเกรียงไกร ได้กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “ภาพรวมและทิศทางอุตสาหกรรมเหล็กไทย” โดยได้นำเสนอเรื่องความท้าทายและแนวโน้มอุตสาหกรรมการผลิตโลก ได้แก่ อุตสาหกรรมที่ให้ความสำคัญกับเป้าหมาย SDGs โดยปฏิบัติตามแนวคิด ESG การพัฒนากระบวนการผลิตสู่ Smart Manufacturing หรือ Industry 4.0 การลดต้นทุนการผลิตเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน การลดการพึ่งพาจากประเทศอื่นๆ และให้ความสำคัญกับ Supply chain security
ในด้านความท้าทายของอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทยจากบริบททางเศรษฐกิจ และทิศทางของอุตสาหกรรมอนาคต จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมเหล็กไทยเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากคู่แข่ง เพราะการนำเข้าสินค้าเหล็กที่มีราคาถูกจากจีน ส่งผลให้การผลิตเหล็กไทยไม่สามารถใช้กำลังการผลิตเต็มประสิทธิภาพ และถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมนี้จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่มีข้อจำกัดบางประการ เช่น เทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิต และการขาดกระบวนการผลิตเหล็กต้นน้ำ เป็นต้น
สำหรับแนวทาง ส.อ.ท. ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเหล็ก มีดังนี้
1. การลดผลกระทบจากการนำเข้าเหล็กที่ไม่มีคุณภาพจากจีน โดย ส.อ.ท. นำเสนอข่าวเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากการนำเข้าของจีนในสินค้าเหล็กที่ส่งผลต่อผู้ผลิตในประเทศ
2. การเพิ่มแต้มต่อการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐให้กับสินค้าเหล็ก โดยการผลักดันไปยังกรมบัญชีกลาง เพื่อเพิ่มแต้มต่อให้กับผู้ผลิตอุตสาหกรรมเหล็กของไทย
3. การเตรียมพร้อมผู้ผลิตเหล็กไทยจากมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (Carbon Border Adjustment Mechanism) หรือ CBAM โดย ส.อ.ท.ได้จัดตั้งสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้องค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการ และนำเสนอความเห็นต่อภาครัฐ
4. การสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ผลิตเหล็กภายใน ส.อ.ท. โดย ส.อ.ท. ได้มี One Province One Industry เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตเหล็กและผู้ใช้ในงานก่อสร้างเชิงพื้นที่