ทุกคนสังเกตกันไหมว่า ในช่วง 2-3 ปีมานี้ เราจะเห็นแบรนด์สินค้าหลากหลายในท้องตลาดมากขึ้น อีกทั้งการแข่งขันในวงการธุรกิจค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้หลายแบรนด์ต้องมองหากลยุทธ์หรือเทคนิคใหม่มาเสริมแกร่งให้กับแบรนด์สินค้าขึ้นอีก แม้กระทั่งนักธุรกิจรุ่นใหม่* ที่ต้องการรวยด้วยแบรนด์ตนเอง แต่ไม่มีโรงงานผลิตเป็นของตนเอง ก็ต้องหาที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ผลิตที่มีศักยภาพ มาช่วยสร้างโอกาสตรงจุดนี้ ซึ่งในที่นี้กำลังจะพูดถึง “กลุ่มผู้รับจ้างผลิต” หรือ “โรงงานรับจ้างผลิต” นั่นเอง และมีคำที่เรามักจะเรียกกันอย่างคุ้นชินว่า “OEM” (Original Equipment Manufacturer)
(* คือ ผู้จ้างผลิต เจ้าของแบรนด์สินค้า)
:
ประเทศไทยเจ้าแห่ง OEM
หากย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ประเทศไทยมีชื่อเสียงมากทางด้านการรับจ้างผลิตสินค้า เนื่องจากมีศักยภาพและมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตลอดจนคุณภาพการให้บริการ จนได้รับความไว้วางใจจากบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลกและเป็นจุดแจ้งเกิดของแบรนด์ดังอีกด้วย ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นฐานรับจ้างผลิตสินค้าระดับโลกมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสำอาง ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการ SMEs
ปัจจุบันผู้ประกอบการในกลุ่ม OEM เป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ครอบคลุมสินค้าทุกประเภท อาทิ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง อาหารและเครื่องดื่ม แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ บรรจุภัณฑ์ เป็นต้น อุตสาหกรรมเหล่านี้ล้วนอยู่ในกลุ่มที่มีความต้องการสูงในท้องตลาด ซึ่งผู้ประกอบการหรือนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ต้องการผลิตสินค้าและจำหน่ายภายใต้แบรนด์ของตนเองนั้น ก็สามารถทำได้ง่ายขึ้น
:
OEM ทำแล้วรวยจริงไหม
อ่านมาถึงตรงนี้ อาจคิดว่าทำ OEM แล้วรวย ?
ที่จริงแล้วขึ้นอยู่กับปัจจัยและลักษณะโครงสร้างของอุตสาหกรรมหรือธุรกิจด้วย เนื่องจากแต่ละอุตสาหกรรมหรือธุรกิจมีต้นทุนที่ต่างกันและไม่เท่ากัน นอกจากนี้ ผู้จ้างผลิตสินค้าจำเป็นต้องรู้ต้นทุนการผลิตสินค้าของตนเองด้วย ยิ่งยุคนี้ผู้จ้างผลิตสินค้ามีเทคนิคในการเจรจาต่อรองราคาเก่ง ยิ่งทำให้โรงงาน OEM ต้องกำหนดราคาผลิตอย่างสมเหตุสมผล เพื่อให้ทางด้านผู้จ้างผลิตสินค้าสามารถกำหนดตัวเลขกำไร ค่าผลิตบรรจุภัณฑ์ ค่าการตลาด ค่าระบบขนส่ง ฯลฯ ได้ โดยมากประมาณ 30-40% ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างกัน
:
6 ข้อเบื้องต้นต้องรู้ก่อนจ้าง OEM
เนื่องจากการจ้างผลิตสินค้ากับโรงงาน OEM ที่ต้องผลิตเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ผู้จ้างผลิตที่กำลังวางแผนจะสร้างธุรกิจหรือแบรนด์สินค้า จึงจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนตัดสินใจเลือกโรงงาน OEM มี 6 ข้อ ดังนี้
- เลือกโรงงานผู้ผลิตที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เหมาะกับสินค้าที่ต้องการผลิต
- ตรวจสอบระบบควบคุมคุณภาพและมาตรฐานการผลิตที่โรงงาน OEM จำเป็นต้องมี เช่น HACCP, GMP, ISO เป็นต้น
- ศึกษาขั้นตอนการผลิตสินค้า เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างการผลิต
- ตรวจสอบข้อสัญญาและข้อตกลงว่าจ้างต้องชัดเจนและครอบคลุม เนื่องจากเป็นความลับทางกรรมวิธีในการผลิตและสูตรส่วนผสม จึงห้ามเผยแพร่และบอกกล่าวใด ๆ
- กรณีต้องมีการจดแจ้งเลข อย. ด้วย ต้องตรวจสอบอย่างรอบคอบกับโรงงาน OEM ว่าเลขนั้นใช้ได้กับสินค้าของตนเองหรือไม่
- ทดสอบการผลิตสินค้าหรือขึ้นตัวอย่างสินค้า เพื่อตรวจสอบคุณภาพสินค้าก่อนจะสั่งผลิตเป็นจำนวนมาก
:
OEM ต้องปรับตัวให้ทันโลก
การเป็นผู้รับจ้างผลิตหรือโรงงานรับจ้างผลิต (OEM) ยังคงเติบโตและมีความสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจไทยเป็นอย่างมาก ดังนั้น เพื่อให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ โรงงาน OEM ต้องมีการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง เช่น การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตและการบริการ การสร้างพันธมิตรกับผู้ผลิตสาขาอื่น เพื่อแบ่งปันความรู้และทรัพยากร เพราะอาจช่วยในการผลิตและการจัดหาวัตถุดิบได้ ที่สำคัญคือ หมั่นติดตามแนวโน้มและทิศทางของตลาดหรืออุตสาหกรรมอยู่ตลอดเวลา
:
————————-
อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้รับจ้างผลิตหรือโรงงานรับจ้างผลิต (OEM) ต้องมีเวทีที่ช่วยเชื่อมโยงระหว่างผู้จ้างผลิตและโรงงานรับจ้างผลิตอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดในปัจจุบันและอนาคต ทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งจะเท่ากับเป็นการตอกย้ำศักยภาพของ “OEM” อย่างแท้จริง