ทุกวันนี้คำที่เราคุ้นชินและพูดบ่อยมากคือ “ลิขสิทธิ์” “สิทธิบัตร” “เครื่องหมายการค้า” “ความลับทางการค้า” “ชื่อทางการค้า” หรือหลายครั้งถูกเหมาเรียกรวมว่า “ลิขสิทธิ์” ก็มี แต่รู้หรือไม่ว่า เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของประเภท “ทรัพย์สินทางปัญญา” ซึ่งหมายถึง ผลงานที่เกิดจากการคิดค้น สร้างสรรค์ และประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่จากสติปัญญาของเรา รวมแม้กระทั่งแนวความคิดด้วย
:
ปัจจุบันปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญายังคงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ และสินค้าเลียนแบบ หรือสินค้าก๊อบปี้ ยิ่งเมื่อสินค้าขายดีและมีชื่อเสียงขึ้นมา การถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาย่อมเกิดขึ้นแน่นอน ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับธุรกิจและผลกระทบต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ
:
ผู้อ่านเชื่อหรือไม่ว่า ในแต่ละเดือนและปี มีคดีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ไม่น้อย ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้เปิดเผยสถิติการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีการเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างปี 2565 และ 2566 ตั้งแต่มกราคม-กันยายน ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และกรมศุลกากร ทั้งในรูปแบบคดีและของกลาง ดังตารางด้านล่างนี้

ประเภททรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property)
เพื่อเป็นการปกป้องนวัตกรรมและรับมือไม่ให้ธุรกิจได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดหรือละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาผู้อื่น ก่อนอื่นผู้ประกอบการ นักธุรกิจ หรือแม้แต่สตาร์ตอัปต้องรู้ว่าทรัพย์สินทางปัญญามีกี่ประเภท และคุ้มครองอะไรบ้าง ขอสรุปให้ทราบ ดังนี้
ทรัพย์สินทางปัญญา แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. ลิขสิทธิ์ (Copyright) หมายถึง สิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ริเริ่มโดยการใช้สติปัญญาความรู้ ความสามารถ และความวิริยะอุตสาหะของตนเองในการสร้างสรรค์ โดยไม่ลอกเลียนงานของผู้อื่น โดยงานที่สร้างสรรค์ต้องเป็นงานตามประเภทที่กฎหมายลิขสิทธิ์ให้คุ้มครอง โดยผู้สร้างสรรค์จะได้รับความคุ้มครองทันทีที่สร้างสรรค์โดยไม่ต้องจดทะเบียน
งานที่กฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครองแก่งานสร้างสรรค์มีด้วยกัน 9 ประเภท ตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่
- งานวรรณกรรม เช่น หนังสือ จุลสาร สิ่งพิมพ์ คำปราศรัย โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ฯลฯ
- งานนาฏกรรม เช่น ท่ารำ ท่าเต้น ฯลฯ
- งานศิลปกรรม เช่น จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย ศิลปประยุกต์ ฯลฯ
- งานดนตรีกรรม เช่น ทำนอง ทำนองและเนื้อร้อง ฯลฯ
- งานสิ่งบันทึกเสียง เช่น ซีดี
- งานโสตทัศนวัสดุ เช่น วีซีดี ดีวีดี ที่มีภาพหรือมีทั้งภาพและเสียง
- งานภาพยนตร์
- งานแพร่เสียงแพร่ภาพ
- งานอื่นใดในแผนกวรรณคดี วิทยาศาสตร์ หรือศิลปะ

ทั้งนี้ โดยทั่ว ๆ ไป อายุการคุ้มครองงานลิขสิทธิ์ (พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537) จะมีผลเกิดขึ้นโดยทันทีที่มีการสร้างสรรค์ผลงาน โดยหลักการแล้วจะยึดมาตรา 19 เป็นหลัก ซึ่งกำหนดให้มีการคุ้มครอง 50 ปี หลังจากที่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิตแล้ว
:
2. ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม (Industrial Property) ตามกรมทรัพย์สินทางปัญญา หมายถึง ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่เกี่ยวกับสินค้าอุตสาหกรรมต่าง ๆ ความคิดสร้างสรรค์นี้อาจเป็นความคิดในการประดิษฐ์คิดค้น ซึ่งอาจจะเป็นกระบวนการหรือเทคนิคในการผลิต ที่ได้ปรับปรุงหรือคิดค้นขึ้นใหม่ หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่เป็นองค์ประกอบและรูปร่างของตัวผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังรวมถึงเครื่องหมายการค้า ความลับทางการค้า การคุ้มครองพันธุ์พืช แบบผังภูมิของวงจรรวม และสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งทรัพย์สินฯ แบ่งออกเป็น 6 ประเภท ที่ต้องรู้ ดังนี้
1. สิทธิบัตร (Patent) แบ่งความคุ้มครองใน 2 ลักษณะ คือ การคุ้มครองการคิดค้นสร้างสรรค์ที่เกี่ยวกับการประดิษฐ์ (Invention) และการคุ้มครองการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Industrial Design) โดยสิทธิบัตรยังแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
- สิทธิบัตรการประดิษฐ์ (Invention Patent) (มาตรา 35) มีระยะเวลาคุ้มครองนานถึง 20 ปี นับจากวันที่ยื่นจดสิทธิบัตร และคุ้มครองในประเทศที่ยื่นจดเท่านั้น ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ในการขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ จะต้องเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น และสามารถใช้ในอุตสาหกรรมได้
- อนุสิทธิบัตร (Petty Patent) (มาตรา 65) ระยะเวลาคุ้มครองในส่วนกรรมวิธีมีอายุ 6 ปี นับจากวันที่ยื่นจด และคุ้มครองในประเทศที่ยื่นจดเท่านั้น ส่วนเจ้าของสิทธิสามารถยื่นต่ออายุได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ปี แต่ทั้งหมดนี้ไม่เกิน 10 ปี ซึ่งหลักเกณฑ์ในการขอรับอนุสิทธิบัตรไม่ซับซ้อนเท่าสิทธิบัตรการประดิษฐ์ แต่ยังคงต้องเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ และสามารถใช้ในอุตสาหกรรมได้
- สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Design Patent) (มาตรา 62) มีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ยื่นจด และได้รับการคุ้มครองในประเทศที่ยื่นจดเท่านั้น โดยคุ้มครองในส่วนรูปลักษณ์ ลวดลาย หรือสีสันของงานออกแบบผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่จะไม่ปกป้องในแง่ของการใช้งานหรือประโยชน์ใช้สอย ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ในการขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ จะต้องเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ และสามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมหรืองานหัตถกรรมได้
2. แบบผังภูมิของวงจรรวม (Layout-Design of Integrated Circuits) เป็นการคุ้มครองแบบผังภูมิของวงจรรวม มีอายุ 10 ปีนับแต่วันยื่นคําขอจดทะเบียน หรือนับแต่วันที่ นําแบบผังภูมินั้นออกใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรกไม่ว่าในประเทศไทยหรือในต่างประเทศ โดยถือวันที่เกิดขึ้นก่อน โดยการคุ้มครองจะมีอายุไม่เกิน 15 ปีนับแต่วันที่สร้างสรรค์แบบผังภูมินั้นเสร็จสิ้น (มาตรา 19)
3. เครื่องหมายการค้า (Trademark) ซึ่งเป็นเครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือตรา ที่ใช้กับสินค้าหรือบริการ ที่เรามักเรียกกันเองโดยทั่วไปว่า โลโก้ แบรนด์หรือยี่ห้อ ซึ่งประเภทของเครื่องหมายการค้า ได้แก่ เครื่องหมายการค้า (Trademark) เครื่องหมายบริการ (Service Mark) เครื่องหมายรับรอง (Certification Mark) และเครื่องหมายร่วม (Collective Mark) ผลแห่งการจดทะเบียนและอายุความคุ้มครอง (1) เจ้าของเครื่องหมายการค้าเป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการใช้เครื่องหมายการค้าของตน ในรายการสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ โดยให้ถือว่าวันที่ยื่นคําขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นวันที่จดทะเบียน เครื่องหมายการค้ารายนั้น (มาตรา 42 และมาตรา 44) (2) อายุความคุ้มครองเครื่องหมายการค้าให้มีอายุ 10 ปีนับแต่วันที่จดทะเบียน (มาตรา 53) (3) สามารถต่ออายุได้ภายใน 3 เดือนก่อนวันสิ้นอายุการจดทะเบียนหรือภายใน 6 เดือนนับแต่วันสิ้นอายุการจดทะเบียน โดยต้องชําระค่าธรรมเนียมเพิ่ม (มาตรา 54) ในกรณีที่เจ้าของเครื่องหมายการค้า มิได้ยื่นคําขอต่ออายุภายในกําหนดเวลา ให้ถือว่าเครื่องหมายการค้านั้นได้ถูกเพิกถอนการจดทะเบียนแล้ว (มาตรา 56)
4. ความลับทางการค้า (Trade Secret) เป็นข้อมูลธุรกิจที่ต้องการให้ปกปิดเป็นความลับในเชิงพาณิชย์ เมื่อเปิดเผยแล้ว ก็หมดอายุความคุ้มครอง เจ้าของความลับทางการค้านั้นโอนสิทธิในความลับทางการค้าให้แก่บุคคลอื่นได้ โดยการโอนซึ่งมิใช่ทางมรดกต้องทําเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอน และหากถ้าไม่ได้กําหนดระยะเวลาในสัญญาโอน ให้ถือว่าเป็นการโอนมีกําหนดระยะเวลา 10 ปี (มาตรา 5)
5. ชื่อทางการค้า (Tradename) ชื่อที่ตั้งขึ้นเพื่อประกอบธุรกิจการค้า เป็นชื่อเต็มขององค์กรธุรกิจ เช่น บริษัท ก. ไก่ จำกัด โดยชื่อทางการค้านี้จะเป็นสิ่งซึ่งแยกแยะเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละองค์กรออกจากกัน
6. สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication) เป็นตัวบ่งบอกว่าสินค้านั้น ๆ เกิดจากแหล่งภูมิศาสตร์ใด เป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ชื่อเสียง หรือคุณลักษณะเฉพาะของท้องถิ่น เช่น โรตีสายไหมอยุธยา มะม่วงเบาสงขลา ชามตราไก่ลำปาง เป็นต้น คําขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จะต้องประกอบด้วยรายละเอียดเกี่ยวกับคุณภาพ ชื่อเสียง หรือคุณลักษณะอื่นของสินค้า แหล่งภูมิศาสตร์ (มาตรา 10) และกรณีที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของต่างประเทศ ให้แสดงหลักฐานการได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายของประเทศนั้นและหลักฐานการใช้มาจนถึงวันยื่นคําขอขึ้นทะเบียนในประเทศไทย (มาตรา 6)
:
อย่างไรก็ตาม ผลงานที่ถูกคิดค้น สร้างสรรค์ และประดิษฐ์ขึ้นมานั้น จำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย หากผู้ประกอบการ นักธุรกิจ และสตาร์ตอัป ต้องการทราบการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาหรือทำอย่างไรเมื่อสินค้าถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา สามารถสอบถามได้ที่ สายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา โทร. 1368 หรือพบเบาะแสการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา สามารถแจ้งได้ที่ ศูนย์ปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปลป.ตร.) โทร. 0-2205-3184, 0-2191-9191 ต่อ 4444, 4999
———————-
ขอบคุณแหล่งที่มา :
– กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์
– IDG (บริษัท อินเทลเล็คชวล ดีไซน์ กรุ๊ป จำกัด)
