ที่มา
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (The Federation of Thai Industries – FTI) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 โดยเริ่มแรกก่อตั้งในนาม สมาคมอุตสาหกรรมไทย (The Association of Thai Industries – ATI) มีคณะผู้เริ่มก่อตั้งจำนวน 27 คน และมีนายทวี บุณยเกตุ เป็นนายกสมาคมฯ คนแรก ได้มีการกำหนดตราประจำสมาคมฯ เป็นตัวอักษร “ส.อ.ท.” อยู่ในเฟือง 3 วง
สมาคมอุตสาหกรรมไทยได้แสดงบทบาทและสร้างผลงานจนเป็นที่ยอมรับจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชน โดยได้เป็นตัวแทนภาคเอกชนด้านอุตสาหกรรมในคณะกรรมการร่วมภาครัฐบาลและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ดังนั้น เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2530 รัฐบาลได้ประกาศพระราชบัญญัติสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2530 ในราชกิจจานุเบกษา ยกฐานะสมาคมอุตสาหกรรมไทยขึ้นเป็น “สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย” ภายใต้การกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
วิสัยทัศน์
“เป็นแกนกลางเสริมสร้างความเข้มแข็งและ
ผลิตภาพอุตสาหกรรมไทย ให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล
เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของไทยให้ยั่งยืน”
ประเภทสมาชิก
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประกอบด้วยสมาชิก 2 ประเภท คือ
- ประเภทสามัญ ได้แก่ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่เป็นนิติบุคคล และประกอบการอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ซึ่งรวมทั้งสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม
- ประเภทสมทบ ได้แก่ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลใด ๆ ที่มิใช่โรงงานอุตสาหกรรมหรือสมาคมการค้า
ทั้งนี้ สมาชิกยังถูกจัดแบ่งออกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดที่กระจายครอบคลุมทุกภูมิภาค โดยมีสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นแกนกลาง เชื่อมโยงกลไกความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ผู้ประกอบการด้วยกันเอง รวมไปถึงผู้บริโภคและผู้ประกอบการอื่น ๆ และมีคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่อยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี ที่มาจากการเลือกตั้งจำนวน 2 ใน 3 ของกรรมการทั้งหมด และ 1 ใน 3 เป็นการเลือกตั้งจากกลุ่มอุตสาหกรรมและสภาอุตสาหกรรมจังหวัดต่าง ๆ โดยคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นผู้กำหนดนโยบายและบริหารงานของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประสานกับภาครัฐและต่างประเทศ เพื่อวัตถุประสงค์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่
เป็นนิติบุคคล และประกอบการ
อุตสาหกรรมตามกฎหมาย
ว่าด้วยโรงงาน ซึ่งรวมทั้ง สมาคมการค้าเพื่อส่งเสริม
อุตสาหกรรม
บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลใด ๆ
ที่มิใช่โรงงานอุตสาหกรรมหรือ
สมาคมการค้า
บทบาทสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
เพื่อให้บรรลุตามภารกิจและวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ คณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้กำหนดบทบาทของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ไว้ดังนี้
1. เข้าร่วมกำหนดนโยบายและร่วมวางแผนกับภาครัฐในการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ
2. เป็นตัวแทนภาคเอกชนในการนำเสนอข้อมูลและปัญหาต่าง ๆ ด้านอุตสาหกรรมต่อภาครัฐ โดยผ่านสภาอุตสาหกรรมฯ เป็นหนึ่งในคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.)
3. เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
4. สร้าง ส่งเสริม พัฒนากิจกรรมต่าง ๆ โดยอาศัยความคิดริเริ่มจากสมาชิก กรรมการสภาอุตสาหกรรมฯ กลุ่มอุตสาหกรรม และสภาอุตสาหกรรมจังหวัด
5. ให้ข้อเสนอแนะแก่ภาครัฐในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ
6. ปกป้องสิทธิและความยุติธรรมอันพึงมีของสมาชิก และนักอุตสาหกรรมทั่วไป
7. ประสานความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ทั้งในอาเซียน ยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย ในส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์การระหว่างประเทศ
8. ร่วมพิจารณากำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรม เพื่อให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนดได้
9. ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างสมาชิก
10. ให้บริการแก่สมาชิกในด้านต่าง ๆ อาทิ ข่าวสาร ข้อมูล คำปรึกษาแนะนำในด้านธุรกิจ