วันอังคารที่ 20 กันยายน 2565 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้รับเกียรติเป็นวิทยากรบรรยายในหลักสูตร SustaInnovation in Action ภายใต้หัวข้อ “SDG 8: Decent Work and Economic Growth” ณ บริษัท เดอะ ลาสต์ แมน สแตนดิง จำกัด

นายเกรียงไกร ได้นำเสนอถึงภาพรวมและแนวโน้มของภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทย ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยง อาทิ ประเด็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัลและรูปแบบธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่ (Digital Disruption) ที่เร่งการเปลี่ยนผ่านของภาคอุตสาหกรรม ประเด็นสงครามการค้า (Trade War) ที่กระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเด็นความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ ความขัดแย้งระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและจีน กรณีไต้หวัน ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะถดถอย (Recession) จากอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงในหลายประเทศ และประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)

นอกจากนี้ ภาคการผลิตยังคงเผชิญกับมรสุมหรือมหาพายุที่กระแทกซ้ำมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ผลกระทบจากการสู้รบระหว่างประเทศรัสเซียกับยูเครน ที่ส่งผลให้ระดับราคาน้ำมันเพิ่มสูง วัตถุดิบหลายอย่างขาดแคลนและมีราคาสูงขึ้นจากมาตรการตอบโต้ทางการค้าระหว่างกัน โดยเฉพาะประเทศรัสเซียกับสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ซึ่งสิ่งที่น่ากังวลเพิ่มขึ้นก็คือ ความตึงเครียดระหว่างประเทศจีนกับไต้หวันที่จะกระทบต่อห่วงโซ่การผลิต โดยเฉพาะเรื่องเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) ที่ขาดแคลน ซึ่งถือเป็นหัวใจของการผลิตอุตสาหกรรมหลักๆ ทั้งด้านยานยนต์และไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์

สำหรับแนวทางการปรับตัวของอุตสาหกรรม ส.อ.ท. จะมุ่งเน้นการขับเคลื่อนทั้งอุตสาหกรรมเดิม (First Industries) ที่ประกอบด้วย 45 กลุ่มอุตสาหกรรม (11 คลัสเตอร์) 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด (5 ภาค/คลัสเตอร์จังหวัด) และอุตสาหกรรมใหม่หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Next-GEN Industries) ที่ประกอบด้วย 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curves) อุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยแนวคิด BCG (Bio-Circular-Green Economy) และการผลักดันเรื่อง Climate Change ในภาคอุตสาหกรรม เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งขับเคลื่อนโครงการการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture Industry) หรือ SAI ตามนโยบาย 1 อุตสาหกรรม 1 จังหวัด (One Industry One Province) เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในระดับพื้นที่อีกด้วย