สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) คืออะไร มีบทบาทและหน้าที่อย่างไร

สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council – ABAC) เป็นหน่วยงานภาคเอกชน ได้รับการก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2538 โดยกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค (Asia-Pacific Economic Cooperation – APEC) ซึ่งเป็นช่วง 5 ปีภายหลังจากการรวมกลุ่มของเอเปค

..
การก่อตั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็น “เสียงของภาคธุรกิจ” ทำหน้าที่เสมือนที่ปรึกษา ให้คำแนะนำแก่ผู้นำเขตเศรษฐกิจในการดำเนินงานด้านการค้าและการลงทุน โดยประกอบด้วยสมาชิก 63 ราย ที่มาจากการแต่งตั้งโดยผู้นำของแต่ละเขตเศรษฐกิจจำนวน 3 คนต่อเขตเศรษฐกิจ จากสมาชิกทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ

..
ในส่วนของประเทศไทย ประกอบด้วยผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และผู้แทนจากสมาคมธนาคารไทย เป็นผู้แทนไทยในสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจ โดยแต่ละปีจะเวียนให้สมาชิกแต่ละเขตเศรษฐกิจทำหน้าที่เป็นประธานทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน และในปี 2565 นี้ ประเทศไทยได้รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพ

..
โดยหน้าที่หลักของ ABAC คือ การให้คำแนะนำแก่ผู้นำและเจ้าหน้าที่เอเปคในประเด็นที่น่าสนใจทางธุรกิจ ตลอดจนการส่งมอบข้อมูลทางธุรกิจเฉพาะด้าน

ความแตกต่างระหว่าง APEC และ ABAC

เอเปค หรือ Asia-Pacific Economic Cooperation (APEC) คือ กรอบความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุน และความร่วมมือมิติด้านสังคมและการพัฒนาอื่นๆ เช่น การเกษตร ภัยพิบัติ การสนับสนุนบทบาทของผู้หญิง และการพัฒนาด้านสาธารณสุข โดยเอเปคก่อตั้งขึ้นในปี 2532

..
ปัจจุบัน เอเปคมีสมาชิกทั้งหมด 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ประเทศจีน ฮ่องกง ไทย เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย รัสเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีนไทเป ฟิลิปปินส์ บรูไนดารุสซาลาม ปาปัวนิวกินี นิวซีแลนด์ แคนาดา สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก เปรู และชิลี

..
เอเปคมีประชากรรวมกันมากกว่า 2.8 พันล้านคน มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประมาณ 59% ของ GDP โลก และมีสัดส่วนการค้าระหว่างไทยกับสมาชิกเอเปคสูงถึง 69.8% ของมูลค้าการค้าระหว่างประเทศของไทยทั้งหมด

..
ส่วนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council: ABAC) ถูกจัดตั้งโดยเอเปคตั้งแต่ปี 2538 เพื่อเป็นเวทีการหารือของภาคธุรกิจเอเปคในระดับพหุภาคี ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อประเด็นด้านการค้าและการลงทุนที่จะเอื้อประโยชน์ต่อภาคธุรกิจเอเปคโดยรวม และในช่วงวาระการประชุมระดับผู้นำประเทศจะมีเวทีย่อยหารือระหว่างผู้แทน ABAC และผู้นำเขตเศรษฐกิจหรือที่เรียกว่า ABAC Leaders Dialogue ซึ่งต่างก็เป็นกลไกที่ช่วยเสริมให้การนำเสนอประเด็นข้อเสนอแนะต่างๆ ของภาคธุรกิจได้รับความสนใจและนำไปสู่การผลักดันอย่างเป็นรูปธรรมในรูปแบบต่างๆ ต่อไป

..
และทุกๆ ปีเจ้าภาพ ABAC จะมีการจัดงานประชุมผู้นำภาคเอกชนของเอเปค (APEC CEO Summit) ในช่วงเดียวกับการจัดประชุมผู้นำเอเปค เพื่อหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างนักธุรกิจชั้นนำของเอเปคจาก 21 เขตเศรษฐกิจ โดยจะมีการเชิญบุคคลผู้มีชื่อเสียงจากภาครัฐ เอกชน รวมทั้งผู้นำเอเปคหลายท่านขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อต่างๆ โดยในแต่ละปีจะมีผู้แทนทางธุรกิจกว่า 2,000 คน จากทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก