ทุกวันนี้มนุษย์กำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติแบบสุดขั้วและเริ่มถี่ขึ้น ทั้งอุณหภูมิสูงผิดปกติ พายุรุนแรง ไฟป่า ภัยแล้ง น้ำท่วม โรคระบาด ปรากฏการณ์เอลนีโญ เป็นต้น ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวง ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถควบคุมปรากฏการณ์เหล่านี้ได้เลย และนี่คือสัญญาณเตือนจากโลก !

:

จากโลกร้อนสู่โลกเดือด

ก่อนหน้านี้ทั่วโลกต่างรับทราบคำเตือนและจัดทำแผนเร่งแก้ไขปัญหาเพื่อควบคุมอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส แต่ทว่าสภาวะโลกร้อน (Global Warming) มีแนวโน้มและทีท่าว่าจะเพิ่มขึ้น

ล่าสุดองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกแห่งสหประชาชาติ (World Meteorological Organization: WMO) จึงได้ออกมาเตือนให้ทั่วโลกปรับตัวและเตรียมรับมือกับคลื่นความร้อนที่จะมีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นเดือนที่ร้อนที่สุดในประวัติการณ์ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนให้รู้ว่าโลกกำลังเดือด (Global Boiling) ประกอบกับปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นแล้ว ยิ่งส่งผลกระทบลากยาวไปจนถึงปี 2567

เตรียมแผนรับมือภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ

ปรากฏการณ์เอลนีโญนอกจากจะมีอิทธิพลและความเสี่ยงต่อสภาพภูมิอากาศโลกแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำฝนอีกด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จึงได้ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำพร้อมแผนรับมือร่วมกับภาครัฐในการประชุม “ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ” ทุกสัปดาห์ โดยนายสมชาย หวังวัฒนาพานิช ประธานสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน ได้เปิดเผยข้อมูลสรุปพอสังเขป ดังนี้

ประเทศไทยมีปริมาณฝนสะสมน้อยกว่าค่าปกติ 25 % โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ที่มีฝนน้อยกว่าปกติ 34 % และภาคกลางที่มีฝนน้อยกว่าค่าปกติ 44 %     โดยปริมาณน้ำใช้การในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่รวมทั้งประเทศมีปริมาณ 12,156 ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยกว่าปีที่ผ่านมา 2,732 ล้านลูกบาศก์เมตร มีอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำใช้การในเกณฑ์น้ำน้อยอยู่ 8 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จังหวัดพิษณุโลก เขื่อนน้ำพุง จังหวัดสกลนคร เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี เขื่อนกระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี อ่างเก็บน้ำคลองสียัด จังหวัดฉะเชิงเทรา อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา จังหวัดปราจีนบุรี เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และเขื่อนปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  

:         

ขณะเดียวกันยังมีการคาดการณ์ต่ออีกว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา หากแต่กำลังอยู่ในช่วงอ่อนกำลัง และมีแนวโน้มที่จะแรงขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2566 จากนั้นจะมีกำลังอ่อนลงและต่อเนื่องไปจนถึงช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2567 ซึ่งคาดว่าอาจยาวนานถึง 3 ปี

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้คาดการณ์ความเสียหายจากปรากฏการณ์เอลนีโญต่อภาคการเกษตรในช่วงครึ่งหลังปี 2566 คิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว 48,000 ล้านบาท

:

เนื่องจากน้ำเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อต้นทุนทั้งภาคเกษตร ภาคการผลิต และการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ส.อ.ท. จึงได้ผลักดันประเด็นปัญหาและข้อเสนอต่อภาครัฐว่า หากปรากฏการณ์เอลนีโญมีความรุนแรงขึ้น จำเป็นต้องวางแผนการรับมือภัยแล้งเพื่อการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อทุกภาคส่วน ทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว โดยมาตรการระยะเร่งด่วน มุ่งเน้นการติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และแจ้งเตือนสถานการณ์ไปยังพื้นที่ที่มีความเสี่ยง เพื่อเตรียมแผนรับมือล่วงหน้า และร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงแนวทางการรับมือและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ส่วนมาตรการระยะยาว จะมุ่งเน้นการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมใช้น้ำตามหลัก 3R (Reduce, Reuse, Recycle) และพัฒนาแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้หน้าแล้ง รวมทั้งศึกษาความเหมาะสมในการหาแหล่งน้ำใหม่ หรือแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ในหน้าแล้ง เช่น การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล หรือการปรับเปลี่ยนน้ำเสียในชุมชนให้กลับมาใช้ในพื้นที่อุตสาหกรรม

:

รักษ์โลกอย่าเป็นแค่กระแสหรือรักแค่ปาก แต่เป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายต้องร่วมด้วยช่วยกัน ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นสัญญาณเตือนให้มนุษย์เราต้องเร่งปรับตัว หากไม่เช่นนั้นแล้ว รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไปคงไม่สามารถอยู่รอดได้ในอนาคต