ประเทศไทยมีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่องผ่านกลไกต่าง ๆ ภายใต้ความเสี่ยงและความท้าทายจากปัจจัยภายในและภายนอก ไม่ว่าจะเป็นภาวะความผันผวนและถดถอยของเศรษฐกิจ การขาดแคลนแรงงาน การขึ้นอัตราดอกเบี้ย การขึ้นค่าแรง

อาจกล่าวได้ว่า เสาหลักสำคัญในการพัฒนาและยกอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และมิได้ขึ้นอยู่กับบริษัทยักษ์ใหญ่เท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับความสามารถของ SMEs ไทย ซึ่งเป็นอีกกลุ่มสำคัญในการขับเคลื่อน GDP ของประเทศ ที่มีกิจการครอบคลุมทั้งภาคการจ้างงาน การส่งออก การค้า บริการ การผลิต ธุรกิจเกษตร รวมถึงการเป็นซัพพลายเออร์ (Supplier) ให้บริษัทขนาดใหญ่ของโลกอีกด้วย และเป็นคำตอบอีกว่า “ประเทศไทยจำเป็นต้องมี SMEs”

:

นิยาม SMEs

ยังมีความเข้าใจอยู่บ้างว่า SMEs (Small and Medium Enterprises Small and Medium Enterprises) หรือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม คือ โอทอป (One Tambon One Product: OTOP) เป็นธุรกิจเล็ก ๆ ไม่ได้สร้างรายได้ให้กับประเทศมากมายเหมือนธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งจากตารางด้านล่างนี้จะสามารถช่วยอธิบายได้อย่างชัดเจนถึงลักษณะของ SMEs โดยสำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

ภาพรวม SMEs ไทย 2566

ล่าสุด สสว. ได้เปิดเผยข้อมูลในงาน SME-GP Day รัฐพร้อมซื้อ SME พร้อมขาย ได้อย่างน่าสนใจว่า GDP SME ต่อ GDP ทั้งประเทศ (ตามนิยามใหม่) คิดเป็นสัดส่วน 35 % ปัจจุบันมีจำนวน SMEs ไทย แยกตามขนาดกลาง ขนาดย่อม และขนาดย่อยหรือรายย่อย ในรูปแบบประเภทบุคคลทั่วไป นิติบุคคล และวิสาหกิจชุมชน ประมาณ 3.1 ล้านราย และมีจำนวนแรงงานประมาณ 12.83 ล้านคน อย่างไรก็ตาม หาก SMEs ไทยจำนวนนี้เติบโตได้ดีต่อเนื่อง แน่นอนว่าการจ้างงานและเศรษฐกิจมวลรวมของประเทศก็ย่อมจะได้รับผลดีตามไปด้วย

สำหรับภาพรวม SMEs ไทย ในครึ่งปีแรกนี้ ภาคการผลิตยังคงติดลบต่อเนื่อง ส่วนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เติบโตค่อนข้างดี ได้แก่ ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร ภาคอสังหาริมทรัพย์ การให้คำปรึกษาเฉพาะด้าน ด้านภาคการส่งออกของ SMEs ที่ยังคงเป็นบวก ได้แก่ สินค้าเกษตร (12.3 %) อาหารและเกษตรแปรรูป (20.3 %) อัญมณีและเครื่องประดับ (41.9 %)

สถานการณ์ SMEs ครึ่งหลังปี 2566

สสว. ยังได้เปิดเผยข้อมูลอีกว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ยังคงมีความผันผวนอยู่ ส่งผลให้ภาคการผลิตและการส่งออกยังไม่สดใสเท่าที่ควร ส่วนประเด็นที่น่ากังวลคือ ผลสำรวจไตรมาสล่าสุดพบว่า สถานภาพทางการเงินของ SMEs ไทยที่มีการกู้มากขึ้นเพื่อใช้หมุนเวียนในกิจการ ขณะเดียวกันก็มีการกู้นอกระบบเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย อาจส่งผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นในครึ่งปีหลังได้

อีกทั้งการชะลอการบริโภคของประเทศคู่ค้าที่สะท้อนถึงกำลังซื้อที่ลดลง ส่งผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในประเทศไทยต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่ง SMEs ในภาคการบริการอาจได้รับผลกระทบตรงนี้ได้

:

การขับเคลื่อนมาตรการสนับสนุน SMEs

การแก้ไขปัญหาของ SMEs จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือแบบบูรณาการจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ภายใต้นโยบาย ONE FTI (ONE Vision, ONE Team, ONE Goal) ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย วาระปี 2565-2567 ให้ความสำคัญในการพัฒนาและยกระดับ SMEs ไทยสู่สากล หรือ Smart SMEs ใน 3 ด้าน ได้แก่

  1. Go Digital : การนำดิจิทัลมาช่วยในยกระดับศักยภาพทางธุรกิจ
  2. Go Innovation : การส่งเสริมให้ SMEs เข้าถึงนวัตกรรมและงานวิจัยมากขึ้น ผ่านกองทุนนวัตกรรมและโครงการด้านนวัตกรรมต่าง ๆ
  3. Go Global : การสร้างและขยายโอกาสในตลาดต่างประเทศ รวมถึงการสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ด้านการเงิน และการตลาด

ดังจะเห็นได้จากการร่วมมือกันผนึกกำลังเดินหน้ายกระดับและสร้างศักยภาพ SMEs ผ่านโครงการดี ๆ อาทิ Thai SME-GP เพื่อสร้างแต้มต่อให้แก่ SMEs ไทยในการจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐ, SME Pro-active เพื่อให้สามารถขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศ, K-FTI Acceleration Program เพื่อให้ SMEs/Startups เข้าสู่ตลาดทุน

 ————–

เนื่องจาก SMEs ไทยมีข้อจำกัดในการขับเคลื่อนหลายด้าน อาจทำให้สถานการณ์ช่วงครึ่งหลังปี 2566 ยังคงมีความคาดหวังและต้องติดตามรายละเอียดต่อไปว่า โครงการใหม่ที่จะเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลชุดใหม่จะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจเติบโตด้วย SMEs และการปลดล็อกการทำธุรกิจให้ SMEs สามารถปรับตัวได้เร็วในโลกยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยอุปสรรคและความท้าทายมากมาย