เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้รับเกียรติเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้กับผู้เข้ารับการศึกษาในหลักสูตรการบริหารเชิงนิติศาสตร์ระดับสูง (วทน.) รุ่นที่ 3 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ในหัวข้อ “การพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้สอดคล้องกับเป้าหมาย SDG ของ UN และแผนยุทธศาสตร์ชาติ” ณ ห้องประชุมชั้น 4 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์

การบรรยายดังกล่าว นายเกรียงไกรได้มีการนำเสนอประเด็นด้านความท้าทายของเศรษฐกิจโลก ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม ประกอบด้วย 1. Technology Disruption หรือเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมรูปแบบใหม่ๆ ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจ ซึ่งต่อจากนี้จะต้องให้ความสำคัญกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยนำเอาระบบ AI และ Robot เข้ามามีบทบาทมากขึ้น 2. สงครามการค้าสู่สงครามด้านเทคโนโลยี (Technology War) 3. สถานการณ์โควิด-19 ซึ่งส่งผลให้อุตสาหกรรมต้องปรับแผนรูปแบบทางธุรกิจ 4. Geopolitics หรือปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ที่จำเป็นต้องมีการหาตลาดใหม่ เพื่อทดแทนตลาดที่เป็นคู่ขัดแย้ง 5. ภาวะโลกร้อน (Global Warming) สู่ภาวะโลกเดือด (Global Boiling) ที่นำไปสู่การปรับตัวตาม มาตรการที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Measures: NTMs) รวมถึงการเกิดธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับการจัดการสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ยังได้มีข้อเสนอเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยผ่านนโยบาย ส.อ.ท. ที่เตรียมเร่งยกระดับอุตสาหกรรมเดิมและพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ Sustainable Development Goals (SDGs) การเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทยด้วยอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตรผ่าน S-Curve การจัดทำโครงการต้นแบบเพื่อการเรียนรู้และบ่มเพาะแนวทางเกษตรกรรมรูปแบบใหม่ (Smart Agriculture Industry : SAI) ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างมูลค่าวัสดุทางการเกษตร ผ่านการปลูก แปรรูป สกัด และหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ การเตรียมความพร้อมให้ภาคอุตสาหกรรมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ตลอดจนการเปิดแพลตฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิต (FTIX) แห่งแรกในเอเปค