สนธยา กริชนวรักษ์
สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โลกประสบกับปัญหาและความเปลี่ยนแปลงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแทนการใช้แรงงานคน ปัญหาความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ปัญหาโรคระบาดที่สร้างความชะงักงันให้กับเศรษฐกิจโลกและการดำรงชีวิตของประชาชน ต่อมาอีกปัญหาหนึ่งที่กำลังคืบคลานเข้ามา และต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วนคือ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นปัญหาระดับโลก ที่ต้องประสานความร่วมมือกันแก้ไขปัญหากันอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาดังกล่าว ไม่ใช่โดยประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งในประเทศนั้น หากแต่ต้องประสานความร่วมมือกันเพื่อปะติดปะต่อให้เกิดผลของการแก้ปัญหาในภาพรวมของโลก

:

กลุ่มประเทศที่เริ่มกำหนดมาตรการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง คงหนีไม่พ้นประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปที่สร้างข้อกำหนดและมาตรการต่าง ๆ มารองรับ เพื่อให้ผู้ประกอบการและประชาชนในกลุ่มประเทศเหล่านี้ถือปฏิบัติ เช่น มาตรการการเก็บภาษีคาร์บอน มาตรการบังคับให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมดำเนินวิธีการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่เกินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่อนุญาตให้ปล่อยได้ในแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งหลากหลายมาตรการบ่งชี้ว่าเป็นมาตรการบังคับเฉพาะสมาชิก หากแต่เมื่อนำไปปฏิบัติแล้วพบว่า มีผลกระทบกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องนอกประเทศสมาชิกอยู่ไม่น้อย เช่น มาตรการปรับคาร์บอนข้ามพรมแดน หรือ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ที่มีสาระสำคัญให้ผู้นำเข้าสินค้าจากนอกสหภาพยุโรป ต้องมีการจ่ายค่าชดเชยคาร์บอนส่วนเกินจากที่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยได้ของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งแท้จริงแล้ว มาตรการดังกล่าวก็ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการส่งออกของไทยในกลุ่มสินค้าที่ CBAM เริ่มมีผลบังคับใช้นอกจากประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปแล้ว แม้แต่ประเทศในภูมิภาคอื่น ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา จีน และสหราชอาณาจักร ต่างก็กำลังสร้างเงื่อนไข กฎ และระเบียบ ในลักษณะเดียวกัน

:

สำหรับประเทศไทยเอง การดำเนินกิจกรรมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่การสร้างกลไกการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และระบบการขอรับรอง การสร้างกลไกการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ การจัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และล่าสุดการยกร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นับเป็นการออกข้อกำหนดด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทยอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก ซึ่ง ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวผ่านขั้นตอนการรับฟังข้อคิดเห็นแล้ว และจะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายเพื่อประกาศใช้ต่อไปในเร็ว ๆ นี้

:

โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว กำหนดให้หน่วยงานของภาครัฐมีการจัดทำฐานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกของประเทศ โดยครอบคลุมกิจกรรมการปล่อย การกักเก็บ การดูดกลับ และแนวทางการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (มาตรา 26) ทั้งนี้ พ.ร.บ. ดังกล่าวยังให้อำนาจแก่หน่วยงานภาครัฐมีอำนาจเรียกขอข้อมูลจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการครอบครองข้อมูลดังกล่าว (มาตรา 27) ซึ่งครอบคลุมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมด้วยเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่หน่วยงานหรือองค์กรผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการให้ข้อมูล ก็ยังได้รับการคุ้มครองเป็นความลับ ห้ามไม่ให้มีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวอันอาจนำมาซึ่งความเสียหายต่อเจ้าของข้อมูลได้ (มาตรา 29 และ 30)

:

และหลังจากรับทราบข้อมูลแล้วหน่วยงานของภาครัฐต้องจัดทำแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ โดยมีการกำหนดนโยบาย งบประมาณ และการตรวจติดตาม กำกับให้การดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นไปตามแผนหรือนโยบายที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ ภาครัฐยังต้องให้การส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นด้านงบประมาณ องค์ความรู้ และเทคโนโลยี เพื่อให้สอดรับกับการนำส่งข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมไปถึงการดำเนินกิจกรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ

:

ความสำคัญกับผู้ประกอบการไทย

ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ผนวกกับการดำเนินมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของต่างประเทศ ที่ผู้ประกอบการต้องเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า การกำหนดมาตรการและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย อาจได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ เช่น มาตรการชดเชยคาร์บอน ซึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบการที่ปล่อยคาร์บอนมากกว่าที่กำหนด ต้องรับผิดชอบโดยการปรับปรุงกระบวนการดำเนินธุรกิจเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ต่ำลง หรือหากปฏิบัติไม่ได้ ก็ต้องอาศัยกลไกของตลาดคาร์บอนหรือการซื้อคาร์บอนเครดิต มาตรการการเก็บภาษีคาร์บอนจากสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอัตราสูง ซึ่งหลากหลายมาตรการแน่นอนว่าต้องส่งผลกระทบต่อภาคประชาชนจากต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น

:

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาตามมาตรการต่าง ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น อาจเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องปฏิบัติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพื่อรักษาตลาดไว้ หากไม่ดำเนินกลไกใด ๆ อย่างเหมาะสมแล้ว ผู้ประกอบการไทยอาจเสียเปรียบทางการค้าได้ รวมถึงอาจถูกมองว่าประเทศไทยไม่มีบทบาทและมาตรการเพื่อร่วมแก้ปัญหาโลกอย่างจริงจัง ดังนั้น ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน ควรร่วมมือกันหามาตรการรองรับ และปรับรูปแบบการดำเนินการให้ส่งผลกระทบต่อภาคประชาชนให้น้อยที่สุด