เมื่อวันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 ทพ.สุพจน์ หวังปรีดาเลิศกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ นำคณะกรรมการและสมาชิกสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ เยี่ยมชม “บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)” หรือ กลุ่ม KTIS ซึ่งกลุ่ม KTIS ดำเนินธุรกิจน้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจรที่เกี่ยวกับผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาลทราย เป็นผลิตภัณฑ์ไบโอ ได้แก่ โรงงานผลิตเอทานอล โรงงานผลิตเยื่อกระดาษฟอกขาวจากชานอ้อย โรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงงานผลิตวัสดุปรับปรุงดินชีวภาพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์” ไบโอคอมเพล็กซ์แห่งแรกของประเทศไทย ณ ตำบลหนองโพ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์

ทพ.สุพจน์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ KTIS 3 และดร.ดารัตน์ ศิริวิริยะกุล วิภาตะกลัศ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม KTIS  พร้อมทีมวิศวกรโรงงาน ได้แนะนำให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์และบริการ ซึ่งบริษัทฯ มีกำลังการผลิตน้ำตาลทรายรวมทั้งสิ้นประมาณ 88,000 ตันอ้อยต่อวัน สามารถจำแนกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ น้ำตาลทรายดิบ (Raw Sugar) น้ำตาลทรายขาว (White Sugar) และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ (Refined Sugar) และผลิตภัณฑ์ที่มาจากผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาลทราย มีดังนี้ ผลิตภัณฑ์โมลาสหรือกากน้ำตาล เกิดจากกระบวนการเคี่ยวน้ำตาล มีลักษณะเป็นของเหลวสีดำ เหนียวข้น และมีความหวาน สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ผลิตภัณฑ์อาหาร รวมถึงนำไปผลิตเป็นเอทานอล

ทั้งนี้ กลุ่ม KTIS ได้นำผลิตภัณฑ์โมลาสบางส่วนมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอลของโรงงานในกลุ่ม และบริษัทฯ ดำเนินธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายเยื่อกระดาษฟอกขาวจากชานอ้อย ผ่าน EPPCO ซึ่งมีกำลังการผลิตทั้งสิ้นประมาณ 100,000 ตันต่อปี โรงงาน EPPCO เป็นโรงงานผลิตเยื่อกระดาษฟอกขาวจากชานอ้อยแห่งเดียวในประเทศไทยที่ใช้วัตถุดิบหลักคือ ชานอ้อย ซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายของบริษัทฯ ปัจจุบันกลุ่ม KTIS มีการนำอินทรียสารที่ได้จากการผลิตต่างๆ ให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยไปใช้เป็นสารปรับปรุงคุณภาพดิน เช่น ตะกอนหม้อกรองที่ได้จากการผลิตน้ำตาล ตะกอน sludge จากการผลิตเยื่อกระดาษ น้ำวีนาส จากการผลิตเอทานอลและขี้เถ้าจากเตาผลิตไฟฟ้า

บริษัทฯ มีหน่วยผลิตไฟฟ้าและไอน้ำในโรงงานน้ำตาลทรายและโรงงานเยื่อกระดาษฟอกขาวจากชานอ้อย โดยใช้ชานอ้อยซึ่งเป็นกากของเสียจากกระบวนการผลิตน้ำตาลมาเป็นวัตถุดิบหลัก นำไอน้ำและไฟฟ้าที่ผลิตได้ไปใช้ในกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายของบริษัทฯ ทั้ง 3 โรงงาน และในกระบวนการผลิตของโรงงานอื่นในกลุ่มบริษัทฯ และจำหน่ายไฟฟ้าส่วนที่เหลือให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และในปัจจุบันส่วนของโรงงานน้ำตาลที่ขายไฟในรูปแบบของ Adder บริษัทฯ ได้เปลี่ยนมาเป็นการขายไฟในรูปแบบ Feed-in tariff ซึ่งทำให้ได้ราคาจากการขายไฟที่สูงขึ้น บริษัทฯ ได้จัดตั้งบริษัท เกษตรไทยไบโอเพาเวอร์ จำกัด หรือ “KTBP” ซึ่ง ปัจจุบันได้ดำเนินการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในระบบโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาดกำลังผลิตทั้งสิ้น 60 เมกะวัตต์

“นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์” เกิดขึ้นเมื่อ 2 บริษัท มหาชน บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC บริษัทชั้นนำในธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม Green Flagship Company ของ GC Group และ บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ กลุ่ม KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร ได้ผนึกกำลังสร้าง “นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ (NBC)” ภายใต้บริษัท จีจีซี เคทิส ไบโออินดัสเทรียล จำกัด หรือ GKBI สร้างบนเนื้อที่ขนาดใหญ่กว่า 2,000 ไร่ ที่อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนำร่องตามนโยบายมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ที่ภาครัฐได้กำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นไบโอฮับ (Bio Hub) ของอาเซียนภายในปี 2570 และเป็นโครงการ Bio Hub แห่งแรกของประเทศไทยด้วย โดยมีแผนดำเนินการเป็นผู้ผลิตด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ ชีวเคมี และพลาสติกชีวภาพ และมีเป้าหมายสู่ธุรกิจพลังงานธรรมชาติที่สะอาดและรักษ์สิ่งแวดล้อม อันเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ อีกทั้งช่วยให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่ความภาคภูมิใจของคนในจังหวัดนครสวรรค์ แต่ยังเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ