เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พร้อมนายณรงค์ชัย วิสูตรชัย กรรมการและเลขานุการสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม ส.อ.ท. นายนที สิทธิประศาสน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท. และนายดอน ทยาทาน เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า ส.อ.ท. ได้รับเชิญให้นำเสนอประเด็น “การเข้าถึงโครงข่ายไฟฟ้าโดยบุคคลที่สาม (Third Party Access)” เพื่อให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อคณะอนุกรรมาธิการการปรับโครงสร้างราคาพลังงานไฟฟ้า ณ ห้องประชุมกรรมาธิการ CA 314 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา

ส.อ.ท. นำเสนอ 3 ประเด็นหลักต่อคณะอนุกรรมาธิการฯ ดังนี้

ประเด็นที่ 1 : แนวทางและมุมมองในการเข้าถึงโครงข่ายไฟฟ้าบุคคลที่สาม
• Third Party Access (TPA) ต้องมีการเปิดกว้าง ให้เข้าถึงได้ทั้งภาครัฐและเอกชน
• เปิดการซื้อขายไฟฟ้าได้ทุกประเภท ทั้งไฟฟ้าที่มาจากพลังงานทดแทน (Renewable Energy: RE) และฟอสซิล (Fossil)
• Wheeling Charge ราคาที่เป็นธรรม โดยช่วงแรกควรมีการส่งเสริมให้ราคาที่จูงใจ เพื่อกระตุ้นให้ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมมากขึ้น

ประเด็นที่ 2 : ทิศทางและแผนการใช้พลังงานของภาคเอกชนในอนาคต
• ควรส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจาก RE ให้เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากเอกชนจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าจาก RE เพิ่มมากขึ้น ที่ผู้ประกอบการหลายรายเริ่มออกนโยบายเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)
• เร่งพิจารณาทบทวนแผนพลังงานชาติ National Energy Plan (NEP) ฉบับใหม่ โดยให้มีการมีส่วนร่วมของ กรอ.พลังงาน เป็นสำคัญ ก่อนที่จะประกาศใช้โดยมุ่งเน้นเป้าหมาย 3 ด้าน ได้แก่
1) เสถียรภาพ ความมั่นคง และความยืดหยุ่นของระบบ
2) ให้บรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)
3) ราคาไม่แพง และเป็นธรรม

ประเด็นที่ 3 : ข้อเสนอแนะที่มีต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวกับแผนการบริหารจัดการพลังงานและการเข้าถึงโครงข่ายไฟฟ้าบุคคลที่สาม
• ยกเลิกโครงสร้างกิจการพลังงานไฟฟ้าแบบ Enhanced Single Buyer และปรับเปลี่ยนให้เป็นโครงสร้างไฟฟ้าแบบเสรี
• ต้องมีการกำหนดแผนงานและเวลาที่ชัดเจนสำหรับการเปิดไฟฟ้าเสรี
• ราคาที่แข่งขันได้
• ปรับปรุง และควบคุมกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้รองรับกับการดำเนินการ เท่าทันต่อสถานการณ์พลังงาน
• สนับสนุนให้มีการเชิญผู้เกี่ยวข้องต่างๆ มีการให้ข้อมูลพร้อมกัน ซึ่งจะช่วยให้มีการหารือ หาทางออกการดำเนินงานและแนวทางทำงานร่วมกันได้รวดเร็วและชัดเจนมากขึ้น
• ภาครัฐควรเร่งผลักดัน One Stop Service ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม