วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 สถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร (สอก.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยนายอัครินทร์ วงศ์อภิรัตน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ กรรมการสำนักงานการรับรองไม้เศรษฐกิจไทย (Thailand Forest Certification Council: TFCC) เข้าร่วมงานเสวนาเรื่อง “กฎระเบียบ EU Deforestation Free products : โอกาส ผลกระทบ และความพร้อมของประเทศไทย” ร่วมกับนายบุญสุธีย์ จิระวงค์พาณิช ตัวแทนจากกรมป่าไม้ นางสาวจุฬาลักษณ์ เข็มทอง กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ นายโกศล บุญคง การยางแห่งประเทศไทย นายสาโรช ศรีใส สหภาพยุโรปประจำประเทศไทย และนายณัฐวัฒน์ คลังทรัพย์ ตัวแทนคณะวนศาสตร์

งานเสวนานี้ จัดโดยศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมี ผศ.ดร.กอบศักดิ์ วันธงไชย คณบดีคณะวนศาสตร์ เป็นประธานเปิดงาน ณ ตึกวนศาสตร์ 60 ปี คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และถ่ายทอดผ่าน Facebook Live ของศูนย์วิจัยป่าไม้ เพื่อหารือแนวทางความพร้อมในการดำเนินการให้สินค้าของประเทศไทยสอดรับกับมาตรการกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า หรือ EU Deforestation Free Product Regulation (EUDR) เช่น การหารือระบบการตรวจสอบย้อนหลัง (Traceability) ของผลิตภัณฑ์ภายใต้มาตรการ EUDR

ปัจจุบันมีสินค้าจำนวน 7 กลุ่ม ได้แก่ วัวและผลิตภัณฑ์ ไม้และผลิตภัณฑ์กระดาษ ปาล์มน้ำมันและอนุพันธ์ของน้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง กาแฟ โกโก้ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ และในอนาคตอาจขยายขอบเขตไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ รวมถึงจะมีการจัดอันดับความเสี่ยงตามประเทศ (Benchmarking System) เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตรวจสอบ Due Diligence โดยแบ่งตามระดับความเสี่ยง 3 กลุ่ม ได้แก่
1. กลุ่มความเสี่ยงต่ำ (Low Risk)
2. กลุ่มความเสี่ยงมาตรฐาน (Standard Risk)
3. กลุ่มความเสี่ยงสูง (High Risk)

ระดับความเสี่ยงดังกล่าว จะส่งผลให้ความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าจากประเทศนั้นเพิ่มขึ้น โดยระยะเวลาบังคับใช้ คาดว่าจะมีผลใช้บังคับประมาณเดือนมิถุนายนหรือเดือนกรกฎาคม 2566 ทั้งนี้ ผู้ประกอบการขนาดใหญ่จะมีเวลา 18 เดือนหลังจากที่กฎหมายมีผลใช้บังคับในการเตรียมความพร้อมเพื่อปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายดังกล่าว และผู้ประกอบการ SMEs จะได้รับเวลา 24 เดือนในการเตรียมความพร้อม ทำให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเตรียมความพร้อม เพื่อยืนยันว่าสินค้ามาจากที่ดินที่ปลอดจากการทำลายป่า และจัดทำกรอบความร่วมมือด้านป่าไม้ (Forest Partnership) รวมถึงกรอบความร่วมมืออื่นๆ กับอียู (EU) ในอนาคตต่อไป