วันพุธที่ 23 มีนาคม 2565 นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็น Guest Speaker ในหัวข้อ Thailand Industry Trend and the 4th Wave of the COVID-19 Pandemic ในงาน FY2021 MCC Top Management Seminar จัดขึ้นโดยชมรมความร่วมมือผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์มิตซูบิชิ มอเตอร์สไทย (Mitsubishi Motors Cooperation Council (Thailand): MCC) โดยมีคุณอภิชาต ลี้อิสสระนุกูล ประธานชมรม MCC กล่าวเปิดงาน และคุณพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล เข้าร่วมงานดังกล่าว ณ Novotel Bangkok Suvarnabhumi Airport Hotel ซึ่งสัมมนานี้จัดขึ้นเพื่อเปิดมุมมองให้แก่ผู้บริหารเกี่ยวกับแนวโน้มอุตสาหกรรมของประเทศไทย ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมองว่าแนวโน้มด้านเศรษฐกิจภาพรวมไทยยังขยายตัวได้ ซึ่งกกร. คาดว่า ขยายตัวอยู่ที่ 2.5 – 4.5% และการส่งออก 3 – 5% แต่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ที่อาจกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง และสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกและนำเข้าของไทย ราคาสินค้า ภาคการขนส่ง ความมั่นคงด้านพลังงาน และอัตราเงินเฟ้อ รวมถึง กระทบต่อภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของไทย เช่น เหล็ก, อาหาร โดยเฉพาะสินค้าอาหารสัตว์ (ข้าวโพด ข้าวสาลี) ผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งผู้ผลิตจำเป็นต้องหาแหล่งทดแทนการนำเข้าอื่น แต่ภายใต้วิกฤตดังกล่าวไทยยังได้รับผลกระทบเชิงบวก จากการปรับเปลี่ยนการขนส่งสินค้าไปรัสเซียและยูเครน ด้วยการขนส่งแบบ Multimodal และการส่งสินค้าทางรางผ่านเส้นทาง BRI ของจีน ซึ่งเป็นอีกช่องทางในการดำเนินทางการค้า
สำหรับการมุ่งสู่เป้าหมายการผลิตและการใช้ยานยนต์ไร้มลพิษ (Zero Emission Vehicle: ZEV) ของยานยนต์ทุกประเภทของไทย เป็นประเด็นที่ภาครัฐและภาคเอกชนให้ความสำคัญ โดยภาครัฐมีมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และรถกระบะ ของภาครัฐ เพี่อส่งเสริมให้เกิดการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ และสนับสนุนให้ไทยสามารถเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วยพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ

สำหรับภาคเอกชน ส.อ.ท. มีแนวทางการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อให้สอดรับและเตรียมพร้อมการมุ่งสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ดังนี้
• ผลักดันให้ประเทศไทย เป็นฐานการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ และผลักดันให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ เพื่อให้เกิดการต่อยอดและยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ตลอด Supply Chain
• ส่งเสริมให้เกิดการบังคับใช้มาตรฐานมลพิษที่เหมาะสมกับภาคอุตสาหกรรม (Euro 5-6)
• ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมชิ้นส่วนเข้าสู่อุตสาหกรรม S-Curve อาทิ ชิ้นส่วนอากาศยาน / ชิ้นส่วนระบบราง หรือ ชิ้นส่วนสำหรับระบบ Automation และ Robotic
• ผลักดันให้เกิดการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนผ่านกลไกทวิภาคี และความเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษา เพื่อให้เกิดการ Upskill และ Reskill อย่างเป็นรูปธรรม
• เตรียมความพร้อมอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เพื่อเข้าสู่โนยบาย Decarbonization / Carbon Neutral ด้วยกลไก Carbon Trading Platform
แต่อย่างไรก็ตาม ภาครัฐและภาคเอกชนควรตระหนักถึงแหล่งที่มาสำหรับการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
————————————-
ฝ่ายเศรษฐกิจและวิชาการ ส.อ.ท.