ของที่ถูกใช้งานแล้วหรือเหลือใช้ เมื่อนำไปทิ้งก็จะกลายเป็นขยะที่ไร้ค่า แต่หากถูกนำมาชุบชีวิตใหม่ด้วยการรีไซเคิล (Recycle) หรืออัปไซเคิล (Upcycle) ก็จะกลายเป็นของที่สร้างประโยชน์และมีคุณค่าเพิ่มขึ้นได้ บวกกับใส่ไอเดียความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเข้าไปให้เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจ ก็จะสามารถสร้างเป็นธุรกิจได้อีก สอดรับกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ภายใต้แนวคิด BCG ด้วย

..

กล่องนมหรือกล่องเครื่องดื่มทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นนมถั่วเหลือง น้ำผลไม้ ชาเขียว กาแฟ จัดเป็นหนึ่งในบรรจุภัณฑ์ที่พบเห็นอย่างแพร่หลายในท้องตลาด ผลิตขึ้นมาเพื่อยืดอายุ และคงรสชาติความสดใหม่ของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ให้อยู่ครบถ้วน แต่ใครจะคาดคิดว่ากล่องนมหรือกล่องเครื่องดื่มที่บริโภคแล้วและกำลังจะถูกทิ้งลงถังขยะจะมีค่ามากกว่าที่คิด อย่างเช่นผลิตเป็นแผ่นกระเบื้องหลังคา หรือยกระดับดีไซน์เป็นเฟอร์นิเจอร์ สิ่งประดิษฐ์ สินค้าและผลิตภัณฑ์รักษ์โลก เรียกได้ว่าเป็นตัวอย่างแนวคิดในการสร้างสังคมแห่งการบริโภคอย่างยั่งยืน ซึ่งเรื่องเล่าของกล่องนมหรือกล่องเครื่องดื่มไม่ได้จบเพียงแค่นี้ อยากจะชวนมาเรียนรู้ไปด้วยกัน

 ..

รู้หรือไม่ ? กล่องนมมี 6 ชั้น

เมื่อดูจากภายนอกที่เป็นกระดาษแล้ว คงเข้าใจว่าภายในต้องเป็นกระดาษด้วยใช่ไหม แต่ที่จริงแล้ว เมื่อแกะกล่องดูจะพบส่วนประกอบ 3 ส่วน ได้แก่ กระดาษ ที่มีสัดส่วนอยู่ถึงร้อยละ 75, พลาสติก (พอลิเอทิลีน) ร้อยละ 21 และอะลูมิเนียมฟอยล์ ร้อยละ 4 ซึ่งจะนำมาเรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ได้ 6 ชั้น ดังนี้

  • ชั้นที่ 1 พอลิเอทิลีน เพื่อป้องกันความชื้นจากภายนอก
  • ชั้นที่ 2 กระดาษ เพื่อความคงทนแข็งแรงของกล่อง
  • ชั้นที่ 3 พอลิเอทิลีน เพื่อช่วยผนึกกล่องให้แน่นสนิท
  • ชั้นที่ 4 อะลูมิเนียมฟอยด์ เพื่อป้องกันภาวะภายนอก
  • ชั้นที่ 5 พอลิเอทิลีน เพื่อช่วยผนึกกล่องให้แน่นสนิท
  • ชั้นที่ 6 พอลิเอทิลีน เพื่อป้องกันและยึดติด และการรั่วซึมของของเหลว

..

“กล่องนม” เหลือใช้มีค่ามากกว่าที่คิด

กล่องนมหรือกล่องเครื่องดื่มถูกพัฒนาให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยการนำกลับมารีไซเคิล ซึ่งเมื่อนำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ส่วนที่เป็นกระดาษจะถูกปั่นแยกออกเพื่อนำไปผลิตกระดาษใหม่ ส่วนที่เหลือก็สามารถนำไปอัดเป็นรีไซเคิลบอร์ด หรือเป็นเม็ดพลาสติกประเภท Poly – Alu จากภาพด้านล่างนี้คงช่วยให้เข้าใจง่ายขึ้น

นอกจากนี้ การรีไซเคิลกล่องนมหรือกล่องเครื่องดื่ม 1 ตัน ยังสามารถช่วยลดต้นทุนพลังงานได้อีกด้วย เช่น

  • ลดการตัดต้นไม้ 17 ต้น
  • ลดการใช้กระแสไฟฟ้า 1,000 กิโลวัตต์/ชั่วโมง
  • ลดการใช้น้ำมันเตา 300 ลิตร
  • ลดขยะจากกระดาษ 1 ตัน
  • ลดการใช้น้ำ 20 ลูกบาศก์ลิตร
  • ลดค่ากำจัดขยะ 1,000 บาท/ตัน

 ..

อย่าลืม ! แกะ-ล้าง-เก็บ ก่อนรีไซเคิล

กล่องนมหรือกล่องเครื่องดื่มก่อนนำไปรีไซเคิลหรือหย่อนที่กล่องรับบริจาค ต้องรู้การเก็บกล่องอย่างถูกวิธีเพื่อช่วยลดพื้นที่ในการจัดเก็บ โดยสามารถลองพับตามแบบจากรูปด้านล่างนี้ ซึ่งมีด้วยกัน 3 วิธี หรือคลิกที่นี่เพื่อดูวิดีโอสาธิตการพับ

จุดรับกล่องนมมีที่ไหนบ้าง ?

สำหรับใครที่อยากเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างสังคมรีไซเคิล สามารถนำกล่องนมหรือกล่องเครื่องดื่มต่าง ๆ ที่ผ่านวิธีการจัดเก็บตามตัวอย่างข้างต้น  ไปหย่อน ณ จุดรับกล่องนม ของบริษัท กล่องวิเศษ จำกัด ซึ่งมีเครือข่ายที่รวบรวมไว้ 13 จังหวัด

 ..

ในทุก ๆ วันยังมีของเหลือทิ้งอีกจำนวนมากมายหลากชนิดบนโลกกลม ๆ ใบนี้ ยิ่งเปลี่ยนโฉมของที่ไม่ใช้แล้ว และยืดอายุการใช้งาน รวมทั้งจัดการอย่างถูกวิธีได้มากเท่าไร ก็จะยิ่งช่วยลดปริมาณขยะ ลดต้นทุนพลังงาน และไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมอันส่งผลกระทบต่อสภาวะโลกร้อนได้มากขึ้นเท่านั้น