หลายท่านคงเคยได้ยินคำว่า “การวิจัย” มาแล้ว โดยสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา จนเกิดมีความเจริญก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา และพัฒนาอย่างไม่มีที่สิ้นสุดในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม อาหาร เป็นต้น ล้วนแล้วมาจากการวิจัยทั้งสิ้น ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าการวิจัยเป็นปัจจัยสำคัญที่บ่งชี้ถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แม้แต่ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ จีน ไต้หวัน นั้น ต่างก็ลงทุนเดินหน้าวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เพราะตระหนักดีว่าการวิจัยและพัฒนาเป็นอาวุธหรือเครื่องมือในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศนั่นเอง

:

แต่สำหรับประเทศไทย ความต้องการของนักวิจัย และหน่วยงานสนับสนุนทุนการวิจัยมีแนวทางที่ยังไม่สอดรับกันนัก นอกจากนี้การทำวิจัยที่มีคุณภาพต้องใช้เวลานานในการเก็บข้อมูล ต้องลงทุนลงแรงอย่างมาก จึงมักพบเห็นงานวิจัยที่ซ้ำซ้อน ไม่ชัดเจน และแบบพื้นฐาน จนเกิดประเด็นการซื้อขายงานวิจัยใส่ชื่อตัวเองก็มี ทำให้การวิจัยเหล่านั้นใช้ไม่ได้จริงและไม่สัมฤทธิ์ผลเท่าที่ควร

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยไทยยังคงต้องเดินหน้าต่อ เพื่อสร้างจุดเปลี่ยนงานวิจัยไทยให้ก้าวหน้า และเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจและสังคมไทย

:

ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ระเบียบ สำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในโครงการซึ่งนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว โดยระเบียบดังกล่าว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (8) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ประกอบมาตรา 31 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 ได้กำหนดวัตถุประสงค์การร่วมลงทุนเพื่อนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ดังต่อไปนี้

  1. เพื่อสร้างประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เชิงสังคม หรือเชิงสาธารณประโยชน์
  2. เพื่อสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน
  3. เพื่อสร้างธุรกิจฐานเทคโนโลยีและนวัตกรรมรายใหม่

สำหรับระเบียบฉบับนี้ เปิดโอกาสให้นักวิจัยและหน่วยงานที่ทำวิจัย สามารถยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ทำขึ้นไปใช้ประโยชน์ รวมทั้งสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน

:

นอกจากจะทำให้งานวิจัยต่าง ๆ ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมากแล้ว ยังจะช่วยเพิ่มจำนวนบริษัทฐานเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย ตลอดจนช่วยสนับสนุนกลุ่ม Startup และ SMEs ให้เติบโตและเข้มแข็งขึ้นจากการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม นับเป็นการ “สร้างจุดเปลี่ยนงานวิจัย” และตอบโจทย์เศรษฐกิจยุคใหม่