วงการแชตบอตต้องสั่นสะเทือน และทำให้ผู้ใช้งานอย่างเราตื่นเต้นไปด้วย เมื่อค่ายยักษ์ที่พัฒนา AI Chatbot ออกมาแข่งกันอย่างดุเดือดว่าของใครเก่งกว่ากันระหว่าง ChatGPT” ของ OpenAI และ Microsoft ที่เปิดตัวไปก่อนและได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วเมื่อเดือนธันวาคม 2565 กับ Bard” ของ Google ที่เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการให้ทดลองใช้งานครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา แต่ด้วยความที่รีบออกมาใช้ ทำให้ข้อมูลเกิดผิดพลาดจนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันค่อนข้างมาก จึงต้องกลับไปแก้ไขและพัฒนาออกมาใหม่ จนในที่สุดได้ออกมาประกาศใช้อย่างเป็นทางการอีกครั้งเมื่อเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมานี่เอง

:

“Bard” เป็น AI Chatbot จากกูเกิล (Google) โดยเวอร์ชันล่าสุดเรียกว่า PaLM2 (Pathways Language Model version 2) มีโมเดลเบื้องหลังที่เป็นภาษาขนาดใหญ่ เรียกสั้น ๆ ว่า LLM (Large Language Mode) ที่เข้าใจคำถามและคำสั่งของมนุษย์มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันรองรับกว่า 100 ภาษาทั่วโลก รวมภาษาไทยด้วย

:

Bard เปิดให้สมัครใช้ในไทยแล้ว และเชื่อว่าหลายคนได้ใช้งานบ้างแล้ว สำหรับมือใหม่ที่ยังไม่เคยใช้ Bard สามารถเข้าไปสมัครและทดลองใช้ด้วยบัญชี Google ได้ที่  https://bard.google.com/ ส่วนใครที่ไม่มีบัญชี Google ก็ทำการสมัครให้เรียบร้อยก่อน

:

Bard vs ChatGPT ความที่เหมือนที่แตกต่าง

Bard และ ChatGPT ต่างเป็นแชตบอตด้วยกันทั้งคู่ก็จริง แต่ความเหมือนย่อมมีความต่าง ซึ่งนอกจากธีมและดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวแล้วยังมีรายละเอียดอะไรบ้าง สรุปเปรียบเทียบแบบตัวต่อตัวมาให้แล้วตามตารางด้านล่างนี้

Bard เบื้องต้นทำอะไรได้บ้าง

สิ่งที่ถือว่าเป็นทีเด็ดของ Bard ซึ่งอาจทำให้ ChatGPT หนาว ๆ ร้อน ๆ ได้ก็คือ มีการเชื่อมระบบการทำงานที่เป็นบริการของ Google (Eco System) ที่มีอยู่ก่อนแล้ว อย่างเช่น Gmail, Google Docs, Google Search, Google Maps, Google Workspace, Google Flights, Youtube เป็นต้น คร่าว ๆ เท่านี้สามารถอนุมานได้เลยว่า Google เอาจริงแน่

มีตัวอย่างการใช้งานเบื้องต้นที่เป็นประโยชน์และน่าสนใจ แล้วจะรู้ว่า Bard ไม่ได้ใช้ยากอย่างที่คิด เช่น

การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่เรียบเรียงมาให้ว่ามีความถูกต้องมากน้อยเพียงใด สังเกตที่ปุ่มไอคอน Google ด้านล่าง เรียกว่า Double-check response มีไว้เพื่อตรวจสอบคำตอบว่าถูกหรือผิด (ปุ่มนี้ใช้กับข้อความภาษาอังกฤษได้ค่อนข้างดีกว่าภาษาไทย) โดยไปสืบค้นแหล่งอ้างอิงจากอินเทอร์เน็ตมาให้ พร้อมแสดงผลลัพธ์ออกมาเป็นสี ได้แก่ สีเขียวและสีส้ม พร้อมระบุลิงก์ให้ด้วย (ตามภาพตัวอย่าง) ตรงแถบสีเขียวแสดงว่ามีแหล่งอ้างอิงปรากฏอยู่และสามารถคลิกดูลิงก์ได้ด้วย แต่ถ้าเป็นสีส้มแสดงว่าหาแหล่งอ้างอิงไม่พบ ไม่แน่ใจแหล่งอ้างอิง หรือถูกดัดแปลงมา

และถ้าไม่ถูกใจคำตอบเราสามารถกดปุ่มไม่ชอบ หรือต้องการแชร์ต่อให้คนอื่นก็ทำได้ง่ายดายเพียงแค่ส่งลิงก์

ไม่เพียงเท่านี้ คำตอบที่ได้ไม่ใช่คำตอบเดียว โดย Bard ยังมีแนวคำตอบอื่น ๆ ให้เลือกอีกด้วย (ตามภาพตัวอย่าง)

นอกจากข้อความแล้ว ยังสามารถสั่งเป็นรูปภาพและเสียงได้ หรือทั้งข้อความพร้อมรูปภาพ หรือแม้กระทั่งสร้างตาราง Bard ก็ทำได้อีก (ตามภาพตัวอย่าง)

ข้อควรระวัง

ไม่ว่า Bard กับ ChatGPT จะชนกันหนักเพียงใด ซึ่งต่างก็เป็นประโยชน์และสร้างประสบการณ์ที่ดี รวมทั้งเข้าถึงผู้ใช้งานทั้งสิ้น แต่เนื่องจาก Bard เชื่อมต่อกับฐานข้อมูลของ Google จึงกลายเป็นประเด็นความกังวลเรื่องการรักษาข้อมูลส่วนบุคคล (Data Privacy) ซึ่งแม้จะออกมาประกาศให้ความมั่นใจก็จริง แต่ก็ไม่อาจทราบได้ว่าจะรักษาได้ในระดับใด ดังนั้น เราในฐานะผู้ใช้งานต้องระมัดระวังโดยหลีกเลี่ยงการป้อนข้อมูลที่เกี่ยวกับองค์กรหรือส่วนบุคคล

 ——————

สุดท้ายแล้ว ทั้ง Bard กับ ChatGPT อาจจะไม่ใช่ทางเลือกเสมอไป คาดการณ์ว่าอนาคตยังมีตัวใหม่ที่รอจังหวะออกมาอย่างแน่นอน รวมถึงการพัฒนา Bard กับ ChatGPT ในเวอร์ชันที่เก่งขึ้นกว่านี้อีกหลายเท่า ซึ่งคงต้องติดตามข่าวสารกันต่อไป