วันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 นายธนารักษ์ พงษ์เภตรา รองประธานสภาอุตสาหกรรมเเห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พร้อมด้วย ดร.วิบูลย์ รักสาสน์เจริญผล รองเลขาธิการ ส.อ.ท. นายอดิศร ตันเองชวน ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ นายกิตติ กิตติชมน์ธวัช ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชุมพร นายฐนโรจน์ จงประเสริฐสิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดระนอง นายตริน พงษ์เภตรา ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี นางสาวอัจจนา หอมละออ กรรมการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชุมพร เข้าร่วมการประชุมระดมความเห็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้: SEC (จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช) จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) เเละได้รับเกียรติจากนายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เป็นประธานกล่าวเปิด ณ ห้องประชุมเกาะเสม็ด ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดชุมพร

งานนี้ จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ทำความเข้าใจต่อบทบาทของ สกสว. ในการจัดทำแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานในองค์ประกอบการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ “ด้านการวิจัยและพัฒนา และการถ่ายทอดเทคโนโลยี” 2) ศึกษาความต้องการของพื้นที่เกี่ยวกับการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย ด้วยงานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยีกับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช) 3) รวบรวมข้อมูลทุนวิจัยงบแผ่นดิน/ทุนวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) ในพื้นที่ และช่องว่างความต้องการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ และการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย และ 4) หารือแนวทางในการขับเคลื่อนการดำเนินงานในองค์ประกอบการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ “ด้านการวิจัยและพัฒนา และการถ่ายทอดเทคโนโลยี” ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่

ทั้งนี้ สกสว. ดำเนินการจัดทำแผนฯ ประกอบด้วย 5 ด้าน ได้เเก่ 1. การให้สิทธิประโยชน์ และการอำนวยความสะดวกการลงทุน 2. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 3. การพัฒนาห่วงโซ่การผลิต และการบริการ 4. การพัฒนาแรงงาน และสนับสนุนผู้ประกอบการ 5. การวิจัยและพัฒนา และการถ่ายทอดเทคโนโลยี

ภายในงาน ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ กลุ่มนักวิชาการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ และผู้แทนภาคประชาสังคมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (จังหวัดชุมพรและระนอง) มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อแนวทางการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ การให้ข้อมูลบริบท และสถานการณ์สำคัญของพื้นที่ และความต้องการด้านวิจัย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป