เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มอบหมายให้นายเวทิต โชควัฒนา รองประธาน ส.อ.ท. และประธานสายงานอาเซียนและโลจิสติกส์ เข้าร่วมบรรยายหัวข้อ “Sustainability Foresight towards to business overview” ซึ่งจัดโดยสมาคมบริหารงานจัดซื้อและซัพพลายเชนแห่งประเทศไทย ณ โรงแรมอโนมาแกรนด์ กรุงเทพฯ

นายเวทิต ได้ให้มุมมองด้านความยั่งยืนของธุรกิจในอนาคตที่สอดคล้องกับงานที่ ส.อ.ท. ดำเนินการอยู่ 3 เรื่อง คือ
1) แพลตฟอร์ม FTIX ดูแลโดยสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ชี้ให้เห็นว่าผู้ประกอบการผลิตหรือส่งออกสินค้าไปยุโรปจะต้องปฏิบัติตามมาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) หรือมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน โดยมาตรการนี้กำหนดเกณฑ์การปล่อยคาร์บอนขั้นสูงสุดของแต่ละโรงงาน (cap) โดยถ้าโรงงานหนึ่งปล่อยได้ต่ำกว่า cap ของตนเอง จะสามารถขายสิทธิ์ในการปล่อยให้กับโรงงานอื่นได้ ส่วนในทางกลับกันโรงงานที่ปล่อยเกิน cap ของตนเองก็จะสามารถซื้อสิทธิ์ในการปล่อยเพิ่มได้ ดังนั้นสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงเป็นเสมือนคนกลางให้ผู้ประกอบการ สามารถซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ผ่านแพลตฟอร์ม FTIX ได้

2) Made in Thailand : MIT ดูแลโดยฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรม เป็นการรับรองสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยให้กับผู้ประกอบการ (B2G) เพื่อให้ได้แต้มต่อ 5% ในการไปประมูลงานจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐ โดย ส.อ.ท. จะมีวิธีการคำนวณประเมินสินค้า เพื่อออกใบรับรองให้กับผู้ประกอบการตามหลักการ ASEAN Content 4 แบบ คือ 1) วัตถุดิบค่าการผลิตและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในประเทศร้อยละ 40 2) คำนวณสัดส่วนวัตถุดิบนำเข้าไม่เกินร้อยละ 60 3) การเทียบเลขรหัสพิกัดสินค้าตามหลักการถิ่นกำเนิดขององค์การการค้าโลก (WTO) 4) การพิจารณาขั้นตอนการผลิตสินค้าที่มีการแปรสภาพอย่างพอเพียงตามหลักการ ASEAN และ WTO แค่เพียง 4 ขั้นตอนนี้ ผู้ประกอบการจะได้รับใบรับรอง MIT แล้ว

3) Smart Agriculture Industry: SAI ดูแลโดยฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรม โดย SAI เป็นแนวคิดแบบ “Demand Driven” ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า 4 กลุ่มหลัก ๆ ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มอุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ กลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพร กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง โดยการใช้เทคโนโลยีควบคุมจัดการสินค้าเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในอนาคต